คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5399/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง กำหนดไว้โดยอาศัยสิทธิเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม นั้น มีได้เฉพาะในกรณีที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากผู้กระทำผิดทางอาญาซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจนคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเท่านั้น มิได้หมายความถึงการเรียกร้องจากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของนายเอกชัย เจริญเขษมสุข ทำให้รถยนต์ของนายเอกชัยได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 90,000 บาท โจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่นายเอกชัยแล้ว จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของนายเอกชัย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิจากนายเอกชัยเพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายที่จะชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเอกชัย จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทและคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์จะอาศัยสิทธิเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51วรรคสาม ได้เฉพาะในกรณีที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากผู้กระทำผิดทางอาญาซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจนคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง จึงให้นัอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง กำหนดไว้เท่านั้น มาตราดังกล่าวนี้มิได้หมายความถึงผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการฟ้องผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาต้องนับอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง คือ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อเกิน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share