แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ (2)(ค) แห่ง ป.รัษฎากร กำหนดให้เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆของสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ด้วย คงยกเว้นให้เฉพาะเงินค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิกหรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค หรือการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 65 ทวิ (13) เท่านั้นแม้ตามมาตรา 79 ตรี (8)(ข) จะยกเว้นให้ไม่ต้องนำรายรับจากการบริจาคสินค้าเป็นสาธารณประโยชน์มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าก็ตามแต่ก็ยกเว้นให้เฉพาะการบริจาคแก่องค์การ หรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น ป.รัษฎากรมิได้ยกเว้นไม่เก็บภาษีจากสมาคมเสียทีเดียว แม้โจทก์มีฐานะเป็นสมาคม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1274 บัญญัติว่ากิจการของโจทก์มิใช่เป็นการประกอบกิจการค้าหากำไรมาแบ่งปันกันก็ตามแต่ในเรื่องหน้าที่นำสืบ ป.รัษฎากรมิได้มีข้อสันนิษฐานไว้ให้เป็นคุณแก่โจทก์ กรณีจึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปของมาตรา 84 แห่งป.วิ.แพ่. เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์มีรายได้ซึ่งต้องเสียภาษีหรือได้รับยกเว้นการเสียภาษีหรือไม่นั้น โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างจำเลยให้การปฏิเสธ หน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่โจทก์ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17 การที่จะนำ ป.วิ.พ.มาอนุโลมใช้ได้ก็ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ และข้อกำหนดตามมาตรา 20 บัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะเท่านั้น ดังนี้ เมื่อมีข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 8 กำหนดว่าคู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 88 แห่ง ป.วิ.พ. มาอนุโลมใช้แก่กรณีการยื่นบัญชีระบุพยานคดีภาษีอากรได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า
1. โจทก์มีรายได้ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามฟ้องหรือไม่
2. โจทก์มีรายได้ซึ่งต้องเสียภาษีการค้าตามฟ้องหรือไม่
3. โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าหรือไม่
4. โจทก์ไม่ได้รับหมายเรียกและหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 หรือไม่
และกำหนดหน้าที่นำสืบว่า ประเด็นข้อพิพาททั้งสี่ข้อ โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างจำเลยให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ตกโจทก์จากนั้นได้มีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 8ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ และพิพากษายกฟ้องโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า โจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นพิพาทข้อ 1, 2 และ 3 ตามที่ศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานไว้หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นสมาคมจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1274 ว่า กิจการของโจทก์มิใช่เป็นการประกอบกิจการค้าหากำไรมาแบ่งปันกัน จำเลยประเมินและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีการค้า ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาททั้งสามข้อดังกล่าวข้างต้นย่อมตกอยู่แก่จำเลยเห็นว่าตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ (2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ด้วย คงยกเว้นให้เฉพาะเงินค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิกหรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาคหรือการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 65 ทวิ (13) เท่านั้น ที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีและตามประมวลรัษฎากร มาตรา79 ตรี (8)(ข) แม้จะบัญญัติยกเว้นว่ารายรับจากการบริจาคสินค้าเป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีการค้าก็ตาม แต่กฎหมายก็ยกเว้นให้แต่เฉพาะองค์การ หรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมิได้ยกเว้นไม่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าจากสมาคมโดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด ดังนั้นลำพังแต่โจทก์มีฐานะเป็นสมาคมแม้ว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1274 จะต้องเป็นกิจการอันมิใช่เป็นการหากำไรแบ่งปันก็ตาม แต่ประมวลรัษฎากรก็มิได้มีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายให้เป็นคุณแก่โจทก์เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่นำสืบตามข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(2)แต่อย่างใดกรณีจึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปของมาตรา 84 กล่าวคือประเด็นข้อพิพาทในข้อ 1, 2 และ 3 ดังกล่าว โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นเพื่อสนับสนุนคำฟ้องของตนว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อพิพาททั้งสามข้อนั้นย่อมตกอยู่แก่ใจซึ่งเป็นคู่ความที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2428 มาตรา 17 ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีการค้า(ฉบับที่ 23) นั้น ก็เป็นการให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตามประเด็นข้อ 3เท่านั้น จำเลยหาได้อ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ อันจะเป็นเหตุให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งกำหนดหน้าที่นำสืบให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อ 1, 2 และ 3นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น เมื่อศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานแล้ว ต้องนัดสืบพยานโจทก์หรือพยานจำเลยก่อน ซึ่งก่อนถึงวันนัดสืบพยาน คู่ความย่อมมีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานหรือขออนุญาตอ้างพยานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 และ 88 ศาลภาษีอากรกลางไม่ชอบที่จะด่วนวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัดชี้สองสถานแล้ว ศาลต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธิพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17บัญญัติว่า “กระบวนพิจารณาในศาลภาษีอากรให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 20 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ดังนั้นการที่จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาอนุโลมใช้แก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลภาษีอากรก็ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรและข้อกำหนดคดีภาษีอากรซึ่งออกตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วเท่านั้น เมื่อมีข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 8 กำหนดว่า คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน อันเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานคดีภาษีอากรที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษแตกต่างไปจากการยื่นบัญชีระบุพยานคดีธรรมดาทั่ว ๆ ไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาอนุโลมให้แก่กรณีการยื่นระบุพยานคดีภาษีอากรได้ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อกำหนดคดีภาษีอากรข้อ 8 มิใช่เป็นกฎหมายเป็นเพียงข้อกำหนดที่วางขึ้นเป็นระเบียบปฏิบัติและยังไม่เป็นที่ทราบกันทั่วไป จึงไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า ข้อกำหนดคดีภาษีอากรดังกล่าว อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งโดยอนุมัติประธานศาลฎีกาเป็นผู้ออกประกาศข้อกำหนดดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 และ 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 อีกทั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย และที่โจทก์อ้างว่าการที่โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานเป็นกรณีผิดหลงด้วยเหตุสุดวิสัย จึงขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานนั้นเห็นว่า เหตุที่โจทก์อ้างดังกล่าว มิใช่เหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยชอบและภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นำสืบประเด็นพิพาทแห่งคดีทั้งสี่ข้อก็ตกอยู่แก่โจทก์ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดีโดยไม่จำต้องสืบพยานจำเลยอีก ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพียงพอขอให้เพิกถอนคำสั่งเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์กับขอให้สั่งให้โจทก์มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามบัญชีระบุพยานที่ขออนุญาตยื่นต่อศาลภาษีอากรกลางซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งข้ (2)(ก) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ตามตาราง 1 ข้อ (1)(ก)เป็นเงิน 3,965 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่โจทก์”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่โจทก์.