แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะกล่าวอ้างว่าตนเป็นเจ้าพนักงานฆ่าผู้ตายเพราะเหตุจากการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือผู้ตายตายอยู่ในระหว่างการควบคุมของตน ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคสามนั้นต้องได้กล่าวอ้างขึ้นในชั้นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เสนอสำนวนการสอบสวนความเห็นต่อพนักงานอัยการตามมาตรา 142 หรือต่ออธิบดีกรมอัยการ หรือผู้รักษาการแทนตามมาตรา 143 วรรคสามได้ถูกต้องเมื่อมิได้มีการกล่าวอ้างเช่นว่านั้น ในชั้นที่ถูกกล่าวหาแล้วการที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเช่นคดีอาญาธรรมดารวมทั้งการที่พนักงานอัยการออกคำสั่งฟ้อง จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่านายชำนาญ โยธา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘
จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่าคดีนี้เป็นกรณีที่ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานอัยการต้องร้องขอต่อศาลให้ทำการไต่สวนและเป็นอำนาจของอธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นที่จะออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่พนักงานอัยการมิได้ร้องขอต่อศาลให้ทำการไต่สวนและอัยการจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ออกคำสั่งฟ้องจำเลย จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลอนุญาตให้นายประเสริฐ โยธา บิดาผู้ตายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ จำคุก ๒๐ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๔๓ วรรคสาม บัญญัติว่า “ในคดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาราชการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง” ตามบทกฎหมายดังกล่าวพึงเห็นได้ว่ากรณีที่อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาได้อ้างขึ้นว่า ตนเป็นเจ้าพนักงานและฆ่าผู้ตายตายเพราะเหตุจากการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือผู้ตายตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของตนซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และการกล่าวอ้างดังกล่าวจะต้องกล่าวอ้างขึ้นในชั้นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญา เพื่อพนักงานสอบสวนซึ่งทำการสอบสวนเสร็จแล้วจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๔๒ กล่าวคือ หากไม่มีการกล่าวอ้าง พนักงานสอบสวนก็จะต้องส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๔๓(๑)(๒) แต่ถ้าผู้ต้องหากล่าวอ้างดังกล่าวขึ้นก่อนก็จะได้ส่งสำนวนไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตามมาตรา ๑๔๓ วรรคสาม ภายหลังที่ได้มีการขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งตามมาตรา ๑๕๐ วรรคสามแล้ว สำหรับคดีนี้จำเลยหาได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไม่ว่า ผู้ตายถูกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเช่นคดีอาญาธรรมดารวมทั้งการที่พนักงานอัยการออกคำสั่งฟ้องจำเลย จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นที่ยังไม่วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี