คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามสำเนาท้ายฟ้องโจทก์ และยังให้การรับเข้ามาอีกว่า จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในฐานะผู้ค้ำประกันได้เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมคบกันเพื่อฉ้อโกงหรือหลอกลวง จำเลยที่ 2โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเช่าซื้อกัน ดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่จำต้องส่งต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าซื้อและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานต่อศาล.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 103,750 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินในวันเช่าซื้อจำนวน 25,000บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 78,750 บาท จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระรวม 30 งวดงวดละ 2,625 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาเช่าซื้อและหนังสือสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตั้งแต่ งวด ที่ 4 ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบ อีก 10 เดือนต่อมาโจทก์ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้ โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์อันควรได้จากการนำทรัพย์สินออกให้เช่าตามปกติซึ่งจะได้วันละ 150 บาท เป็นเงิน 46,340 บาท และโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามเอารถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำนวน 3,135 บาท ทั้งรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์ได้คืนมาสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากการไม่ดูแลรักษาและใช้โดยไม่ระมัดระวัง โจทก์นำออกขายได้ราคาไม่ครบถ้วนตามจำนวนค่าเช่าซื้อ ยังขาดอยู่จำนวน 40,875 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น90,360 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 90,360 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์เรียกมานั้นสูงเกินไป โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าติดตามเอารถคืนจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องชำระหนี้เพราะเมื่อชำระแล้วไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในฐานะผู้ค้ำประกันได้ เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1ร่วมกันฉ้อโกงจำเลยที่ 2 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะทำสัญญาเช่าซื้อกัน เพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อราคาไม่เกิน 50,000 บาทแต่ตามฟ้องราคา 103,750 บาท สัญญาเช่าซื้อจึงตกเป็นโมฆะสัญญาค้ำประกันจึงไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน49,485 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามคู่ฉบับหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ตามคู่ฉบับหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ โจทก์ได้ติดตามรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนและขายให้ผู้อื่นไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 49,485 บาท โจทก์มิได้ส่งต้นฉบับของสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อศาลคงส่งแต่คู่ฉบับของสัญญาดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นพยานหลักฐาน มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าซื้อและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานต่อศาลจะรับฟังได้หรือไม่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามสำเนาท้ายฟ้องโจทก์และยังให้การรับเข้ามาอีกว่า จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในฐานะผู้ค้ำประกันได้เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมคบกันเพื่อฉ้อโกงหรือหลอกลวงจำเลยที่ 2 โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเช่าซื้อกัน ดังนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับว่าจำเลยที่ 1ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโจทก์ไม่จำต้องส่งต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าซื้อและหนังสือสัญญาค้ำประกัน
พิพากษายืน.

Share