แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่โจทก์เป็นผู้ต้องหาและถูกจับมาควบคุมไว้ การที่จำเลยพูดในตอนแรกที่ญาติโจทก์แสดงความจำนงขอประกันตัวโจทก์ว่าจะประกันไปทำไมจะตัดนิสัย2-3 วันก่อน และว่าจำเลยไม่ว่าง จะไปตั้งด่านตรวจ แต่จำเลยกลับไปรับประทานอาหารโดยมิได้ตั้งด่านตรวจตามที่พูดไว้นานเกือบ1 ชั่วโมง จึงกลับมาที่สถานีตำรวจแล้วจำเลยพูดกับญาติโจทก์อีกครั้งหนึ่งว่าจะประกันไปทำไม ตอนนี้ผู้เสียหายกำลังแรงให้ถูกขัง4-5 วันก่อน จากนั้นจำเลยก็ออกไปโต๊ะสนุกเกอร์ ดังนี้ จำเลยมีหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่อ และตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญาฯ และมีหน้าที่ต้องขวนขวายกระวีกระวาดแนะนำชี้แจงแก่ญาติโจทก์ที่มาติดต่อขอประกันตัวโจทก์ว่าจะยื่นเรื่องราวได้อย่างไร นำเสนอแก่ใครและจำเลยต้องคอยให้โอกาสในการที่คนเหล่านั้นจะได้ดำเนินการดังกล่าว ไปด้วยดี รวดเร็วและเรียบร้อยตามสมควรแก่เวลาและพฤติการณ์ การกระทำ ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ถูกคุมขัง เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 157.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้กระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2531 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวมายังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรีจำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจนำโจทก์เข้าควบคุมในห้องขัง โดยยังมิได้ลงบันทึกประจำวันและสอบสวนโจทก์ในฐานะผู้ต้องหา ต่อมาเวลาประมาณ 18.30 นาฬิกา ญาติโจทก์ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์ต่อจำเลย จำเลยพยายามหน่วงเหนี่ยวไว้จนกระทั่งเวลาประมาณ 23 นาฬิกา อันเป็นการควบคุมโจทก์เกินกว่าจำเป็นจำเลยจึงรับคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และเสนอผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการมีคำสั่งปล่อยโจทก์ชั่วคราว เมื่อเวลาประมาณ 23.30 นาฬิกา การกระทำของจำเลยดังกล่าวมีเจตนาเพื่อกลั่นแกล้งหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา29, 30
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา นางสมพรหรือชุม แก้วใหญ่ ในฐานะผู้เสียหายในคดีหนึ่งได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสารซึ่งจำเลยเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนโดยเป็นผู้รับแจ้งความไว้ก่อนแล้ว ขณะนั้นจำเลยอยู่ที่อาคารที่พักชั้น 5 หลังสถานีตำรวจจำเลยสั่งทางวิทยุให้ขังโจทก์ไว้และสักครู่จำเลยก็ออกจากอาคารที่พักชั้น 5 มาที่สถานีตำรวจ พอดีนางนิภา บัวสรวง ญาติของโจทก์มาที่สถานีตำรวจ และพยานโจทก์คนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเพื่อนของโจทก์ก็ทยอยกันมาที่สถานีตำรวจ นางนิภาแจ้งความประสงค์ต่อจำเลยว่าจะขอประกันตัวโจทก์ แต่ยังไม่ทันได้ยื่นเรื่องราวจำเลยออกจากสถานีตำรวจไปรับประทานอาหารเกือบครึ่งชั่วโมง จึงกลับมาสักครู่แล้วออกไปที่โต๊ะสนุกเกอร์ ส่วนทางฝ่ายญาติของโจทก์ให้เจ้าพนักงานตำรวจเสมียนคดีทำเรื่องราวแล้วนำไปเสนอจำเลยที่โต๊ะสนุกเกอร์ จำเลยกลับมาที่สถานตำรวจเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ทำเรื่องเสนอสารวัตรใหญ่สารวัตรใหญ่ได้อนุญาตให้ประกันตัวโจทก์ โจทก์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อเวลา 23 นาฬิกา
ในประเด็นที่ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่นั้น มีข้อที่จะต้องพิจารณาคือจำเลยมีหน้าที่อะไร จำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่นั้นหรือไม่ และจำเลยได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่สำหรับในข้อที่ว่าจำเลยมีหน้าที่อะไรนั้น จากข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในเบื้องต้นดังกล่าวมาแล้วนั้น เห็นได้ว่าจำเลยเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่โจทก์เป็นผู้ต้องหาและถูกจับมาควบคุมไว้ จำเลย ย่อมมีหน้าที่โดยทั่วไปที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่อ ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ข้อ 5 วางระเบียบเกี่ยวกับคำร้องขอปล่อยชั่วคราวว่าเมื่อมีคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยมีหลักประกันหรือไม่มีหลักประกัน ไม่ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้ต้องหานั้นเอง หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องไว้โดยพลันแล้วพิจารณาสั่งหรือถ้าเป็นกรณีที่ตนไม่มีอำนาจสั่งก็ให้รีบเสนอคำร้องนั้นไปยังผู้มีอำนาจสั่งโดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้ได้แก่สารวัตรใหญ่ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องขวนขวายกระวีกระวาดแนะนำชี้แจงแก่ญาติของโจทก์ที่มาติดต่อว่าจะยื่นเรื่องราวได้อย่างไร นำเสนอแก่ใครและคอยให้โอกาสในการที่คนเหล่านั้นจะได้ดำเนินการดังกล่าวไปด้วยดี รวดเร็วและเรียบร้อยตามสมควรแก่เวลาและพฤติการณ์
ส่วนในข้อที่ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยมิชอบหรือไม่นั้น โจทก์มีนางนิภา บัวสรวง นางสาวนฤมลสมัครวงษ์ นายมนูญ หมอยาดี นายสมศักดิ์ สุขอนันต์ และนายไพรัชทองเชื้อ เบิกความเป็นพยานว่า ในวันเกิดเหตุหลังจากที่โจทก์ถูกจับและถูกคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจแล้ว เวลาประมาณ 18.30 นาฬิกาพยานต่างทยอยกันไปที่สถานีตำรวจโดยเตรียมหลักทรัพย์ไปด้วย และต่างได้พูดกับจำเลยขอประกันตัวโจทก์ จำเลยบอกว่าไม่ว่างจะไปตั้งด่านตรวจและยังพูดอีกว่าจะรีบประกันไปทำไม จะดัดนิสัยหรือสันดาน 2-3 วันก่อน แล้วจำเลยออกไปรับประทานอาหารที่ร้านจานทิพย์ มิได้ไปตั้งด่านตรวจแต่อย่างใด และพยานโจทก์ดังกล่าวยังเบิกความอีกว่า เมื่อจำเลยกลับมาที่สถานีตำรวจอีกครั้งหนึ่ง ญาติของโจทก์พูดขอประกันตัวโจทก์อีก จำเลยพูดว่าจะประกันไปทำไม ตอนนี้ผู้เสียหายกำลังแรงให้ถูกขัง 4-5 วันก่อน ทั้งยังได้ความจากพยานโจทก์ว่าพวกของโจทก์ได้ไปพบพันตำรวจโทสมเกียรติ โพธิ์สุทธิ์ สารวัตรใหญ่และพูดขอประกันโจทก์ ในข้อนี้พันตำรวจโทสมเกียรติก็เบิกความยอมรับว่าพวกของโจทก์ได้ไปพบจริง พยานได้บอกว่าให้ทำเรื่องขอประกันมาจะพิจารณาสั่งให้ นอกจากนี้จำเลยยังเบิกความรับว่าเรื่องนี้จำเลยบันทึกความเห็นเสนอสารวัตรใหญ่ว่าไม่ควรให้ประกัน เห็นว่า พยานโจทก์ยืนยันต้องกันถึงข้อความที่จำเลยพูด ทั้งปรากฎว่าญาติโจทก์ได้ไปพบและพูดขอประกันตัวโจทก์กับสารวัตรใหญ่ ซึ่งสนับสนุนข้อที่ว่าจำเลยได้พูดดังกล่าวจริง เพราะถ้าจำเลยมิได้พูดดังกล่าว ญาติของโจทก์คงจะไม่ไปพบสารวัตรใหญ่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้บอกญาติโจทก์ให้ทำเรื่องมาเสนอ และตอบทนายจำเลยถามค้านว่าจำเลยมิได้พูดว่าจะไม่ให้ประกันจะขังโจทก์ไว้ดัดสันดานนั้น เป็นการเบิกความเพียงปากเดียวลอย ๆไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยได้พูดในตอนแรกที่ญาติโจทก์แสดงความจำนงขอประกันตัวโจทก์ว่าจะประกันไปทำไม จะดัดนิสัย 2-3 วันก่อน และว่าจำเลยไม่ว่างจะไปตั้งด่านตรวจและพูดตอนที่จำเลยกลับจากร้านอาหารมาที่สถานีตำรวจอีกครั้งหนึ่งว่าจะประกันไปทำไม ตอนนี้ผู้เสียหายเขากำลังแรง ให้ถูกขัง 4-5 วันก่อนการที่จำเลยพูดดังกล่าว แล้วจำเลยไปรับประทานอาหารที่ร้านจานทิพย์โดยมิได้ไปตั้งด่านตรวจตามที่ได้พูดไว้ และนานเกือบ 1 ชั่วโมงจึงกลับมาที่สถานีตำรวจแล้วสักครู่ก็ออกไปโต๊ะสนุกเกอร์ บ่งชี้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อหน่วงเหนี่ยวการประกันตัวโจทก์ให้ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เป็นการกระทำให้การประกันตัวโจทก์ขลุกขลักลำบากไม่สะดวกตามที่ควรจะเป็น เท่ากับไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อ ไม่ขวนขวายกระวีกระวาดแนะนำหรือหาวิธีให้ญาติโจทก์ได้ยื่นเรื่องราวโดยรวดเร็วตามหน้าที่ที่จะต้องทำดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยได้ลงบันทึกประจำวันเองแล้วออกไปรับประทานอาหาร ต่อมาเวลาประมาณ 20นาฬิกา ได้กลับไปที่สถานีตำรวจ สอบปากคำโจทก์และให้สำนวนแก่พนักงานตำรวจเสมียนคดีไปทำเรื่องประกันแล้วไปโต๊ะสนุกเกอร์ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเสมียนคดีนำเรื่องขอประกันเสนอจำเลย จำเลยก็ได้นำไปแก้ไขแล้วนำเสนอสารวัตรใหญ่ เมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกานั้นไม่พอเพียงที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และไม่เพียงพอที่จะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องบริบูรณ์
ส่วนในข้อที่ว่าจำเลยได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จากคำพูดและการกระทำของจำเลยดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้การประกันตัวของโจทก์เกิดการล่าช้าขลุกขลัก ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยได้กระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้ถูกคุมขังอยู่ และจากข้อเท็จจริงทั้งมวลฟังได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157
พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.