คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2571/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้บังคับบัญชาสั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถไปเบิกน้ำมัน แต่จำเลยที่ 1 ขับรถไปซื้อยา อันเป็นการผิดระเบียบของจำเลยที่ 2 และรถจำเลยที่ 1 ชนกับรถโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่กลับมาที่ทำการเดิม ถือว่าจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่การงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อยู่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 2ปฏิบัติราชการให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2526เวลากลางคืน จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 บ-7673กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองในทางราชการของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส กระดูกขาซ้ายหัก เส้นประสาทด้านขาซ้ายใช้การไม่ได้ ต้องพิการไปตลอดชีวิต โจทก์ที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายที่ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต เป็นจำนวน 100,000 บาท ค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบการงานได้เดือนละ 2,000 บาทไปจนถึงเมื่อโจทก์ที่ 1 มีอายุครบ 60 ปี เป็นเวลา 40 ปี คิดเป็นเงิน 960,000 บาทแต่ขอเพียง 500,000 บาท และโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 146,932 บาท เสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ 5,000 บาท และรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเสื่อมสภาพและราคาลงเป็นเงิน 8,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1กระทำขึ้นในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติราชการให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นเวลากลางคืนนอกเวลาราชการจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เป็นการส่วนตัวออกจากสำนักงานโครงการพัฒนาต้นน้ำ จะไปซื้อยาให้คนงานที่ป่วยไม่ได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่ว่าจ้างของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะใช้เงินให้โจทก์ที่ 1 เสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 34,246.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะใช้เงินให้โจทก์ที่ 2 เสร็จ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะใช้เงินให้โจทก์ที่ 1 เสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 68,493 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะใช้เงินแก่โจทก์ที่ 2 เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การที่จำเลยที่ 1 ขับรถตัดหน้ารถโจทก์ที่ 1 ในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้รถโจทก์ที่ 1 ชนรถจำเลยที่ 1เช่นนี้ เป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2ในวันเกิดเหตุได้รับคำสั่งจากนายสติ วงศ์วิชาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และเป็นข้าราชการของจำเลยที่ 2ให้ขับรถคันเกิดเหตุจากที่ทำการโครงการตามพระราชประสงค์ห้วยป่าเลาไปเบิกน้ำมันที่สำนักงานโครงการพัฒนาต้นน้ำ (ห้วยแก้ว)ในระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขับรถเพื่อไปซื้อยาให้คนงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งป่วย จึงเกิดเหตุชนกับรถของโจทก์ที่ 1 ได้ความดังกล่าวมาศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะขับรถมาถึงสำนักงานโครงการพัฒนาต้นน้ำ (ห้วยแก้ว) แล้วออกไปซื้อยาภายนอกสำนักงานอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลยที่ 2 และของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 จนเป็นเหตุให้รถชนกันในคดีนี้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้กลับไปยังที่ทำการเดิมของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่การงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อยู่ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง…”
พิพากษายืน.

Share