แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ทนายจำเลยห่อคำฟ้องอุทธรณ์แล้วส่งให้จำเลยทางรถยนต์โดยสารประจำทาง ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติวิสัยเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่ง ที่จำเลยไม่ได้รับห่อคำฟ้องอุทธรณ์ภายในกำหนดโดยอ้างว่าเป็นความผิดของพนักงานบริษัทรถยนต์โดยสารที่ค้นหาหรือส่งห่อคำฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยล่าช้าพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้เสมอในการขนส่งทั่วไป ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดแล้ว.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2533 จำเลยยื่นคำร้องขอยื่นอุทธรณ์ลงวันที่19 เมษายน 2533 ว่า ทนายจำเลยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานครได้จัดส่งคำฟ้องอุทธรณ์ไปให้จำเลยเพื่อยื่นต่อศาลโดยทางรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศของบริษัทสหมิตรขนส่ง จำกัด ในวันที่16 เมษายน 2533 (วันสุดท้ายที่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์) จำเลยไปขอรับพัสดุ พนักงานบริษัทแจ้งว่าไม่มีห่อพัสดุส่งถึงจำเลย จำเลยได้ติดต่อกับทนายจำเลยก็ได้รับการยืนยันว่าได้ส่งคำฟ้องอุทธรณ์มาให้แล้ว วันที่ 17 เดือนเดียวกันจำเลยเดินทางไปที่สำนักงานทนายความของทนายจำเลย และได้รับแจ้งว่าได้ส่งคำฟ้องอุทธรณ์ไปให้จำเลยหลายวันแล้ว จำเลยจึงโทรศัพท์แจ้งให้สามีไปสอบถามที่บริษัทสหมิตรขนส่ง จำกัด สามีจำเลยไปสอบถามแล้วพนักงานของบริษัทตรวจค้นพบคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยส่งมาถึงตั้งแต่วันที่15 เดือนเดียวกัน สามีจำเลยนำคำฟ้องอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาล เจ้าพนักงานศาลแจ้งว่าต้องเสียค่าธรรมเนียม 8,000 บาท สามีจำเลยจึงกลับไปหาเงินค่าธรรมเนียมเมื่อกลับไปศาลอีกครั้งก็เป็นเวลาปิดทำการแล้ววันที่ 18 เมษายน 2533 จำเลยไปติดต่อเพื่อวางค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานศาลแจ้งว่าศาลไม่รับเพราะยื่นคำฟ้องอุทธรณ์เกินกำหนดจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ล่าช้าเพราะเหตุสุดวิสัย เหตุเกิดจากความบกพร่องของพนักงานบริษัทสหมิตรขนส่ง จำกัด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…บริษัทสหมิตรขนส่ง จำกัด ทำการขนส่งตามปกติไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติวิสัยเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่ง ที่จำเลยไม่ได้รับห่อพัสดุคำฟ้องอุทธรณ์โดยอ้างว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของพนักงานบริษัทที่ไม่ค้นหาหรือส่งห่อพัสดุให้แก่จำเลยล่าช้า ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมอาจเกิดขึ้นได้เสมอในการขนส่งทั่วไป กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย…”
พิพากษายืน.