แหล่งที่มา : กองผู้ช่วย ผู้พิพากษา ศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงว่า นายอาษายังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างและไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา84(1) เมื่อโจทก์ไม่นำสืบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้นำพยานมาเบิกความเพื่อยืนยันว่านายอาษายังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าเป็นเรื่องที่ศาลจะรู้ได้เองไม่จำต้องสืบพยานแล้วบันทึกเพียงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 นั้นเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน5,368.75 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน5,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะนายอาษาเมฆสวรรค์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อนฟ้องคดีนี้จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า กรุงเทพมหานครโดยนายอาษา เมฆสวรรค์ ผู้ว่าราชการ โจทก์ จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนายอาษาพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก่อนฟ้องคดีนี้จึงไม่มีอำนาจกระทำแทนโจทก์และวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ว่านายอาษายังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างและไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) เมื่อโจทก์ไม่นำสืบโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนปัญหาว่า ตามอุทธรณ์โจทก์ซึ่งอ้างว่าได้นำพยานเบิกความในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเพื่อยืนยันว่านายอาษายังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่นั่งพิจารณาคดีนี้ได้กล่าวแก่โจทก์ว่า ข้อความที่พยานเบิกความในรายละเอียดเป็นเรื่องที่ศาลจะรู้ได้เองไม่จำต้องสืบพยานแล้วบันทึกคำพยานเพียงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับฟังพยานโจทก์และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ศาลรู้ได้เองการใช้ดุลพินิจดังกล่าวจึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาโจทก์ไม่จำเป็นที่จะต้องโต้แย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) นั้น วินิจฉัยว่าข้อฎีกาของโจทก์นี้เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์แต่เพียงฝ่ายเดียวยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแต่อย่างไรก็ตามหากเป็นความจริงดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในประเด็นดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้
พิพากษายืน.