คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีทุกข์ซึ่งโจทก์ไม่มีส่วนผิด โจทก์ย่อมจะหาความสะดวกเพื่อให้ได้รับทุกข์น้อยที่สุดโดยการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ จำเลยจะกะเกณฑ์ให้โจทก์ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐหาได้ไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง โจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนในระหว่างรักษาตัวเนื่องจากเจ็บป่วยเพราะจำเลยกระทำละเมิด จำเลยต้องรับผิดเต็มจำนวนของเงินเดือนที่โจทก์ไม่ได้รับนั้น จำเลยจะเกี่ยง ให้โจทก์นำค่าน้ำมันรถค่าอาหารการกินมาหักจากเงินเดือนก่อนหาได้ไม่ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วยกับค่าสูญเสียบุคลลิกภาพ ต่างก็เป็นค่าเสียหายซึ่งไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ศาลย่อมกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรได้โดยไม่ต้องแบ่งแยกว่าค่าทนทุกข์ทรมานเท่าใดค่าสูญเสียบุคคลิกภาพเท่าใด ค่าเสียหายที่เกิดจากการสูญเสียบุคคลิกภาพกับค่าเสียหายที่เกิดจากการที่ไม่สามารถประกอบการงานในอนาคตเป็นค่าเสียหายที่ไม่ซ้ำกัน เพราะการเสียบุคคลิกภาพนั้นเป็นการเสียความมีลักษณะสง่าผ่าเผยในสังคม ซึ่งต่างหากจากการเสียความสามารถในการประกอบการงาน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการใช้รถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-1503 ร้อยเอ็ด 48มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถ จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเข้าเดินรถร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งและต่างแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนจำเลยที่ 4เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-1984 อุดรธานี42 โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างขับรถ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-1503 ร้อยเอ็ด 48 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดมุกดาหารด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงพุ่ง เข้าชนด้านขวาท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-1984 อุดรธานี 42ที่จอดอยู่ ข้างทาง ซึ่งจำเลยที่ 5 ลูกจ้างของจำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างได้จอดไว้โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงล้ำเส้นแนวไหล่ทางโดยไม่ให้สัญญาณไฟและห่างทางโค้งเพียง 115 เมตรผู้โดยสารในรถเสียชีวิตทันที 12 คน และโจทก์ซึ่งโดยสารมาในรถด้วยได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 195,887 บาท เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วโจทก์ยังต้องรักษาเป็นเงิน 8,000 บาท ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างเจ็บป่วยถึงวันฟ้องเป็นเงิน76,200 บาท ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตอีก 60,000 บาท และเนื่องจากโจทก์มีอาชีพเป็นทนายความ แต่ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพไม่สามารถเดินด้วยตนเองได้ ทำให้เสียความสามารถส่วนนี้อีกเดือนละ6,350 บาท เป็นเวลา 6 ปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นเงิน 457,200 บาทโจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วยและโจทก์มีครอบครัวแล้วมีบุตรเล็กที่ต้องอุปการะถึง 2 คน ทำให้โจทก์สูญเสียอนาคตในการทำงานและเสียบุคคลิกภาพและความสุขสำราญเสียไปคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,097,287 บาทการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 5 เป็นการร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดด้วยโจทก์ได้ทวงถามจากจำเลยทั้งห้าแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,097,287 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-1503 ร้อยเอ็ด 48 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างกระทำการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ตลอดทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด อุบัติเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 5 ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาสูงกว่าความจริงโจทก์จึงมิได้ขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพในอนาคต ระหว่างเจ็บป่วยโจทก์เสียค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 20,000 บาท และไม่จำต้องเสียค่ารักษาพยาบาลในอนาคตแต่อย่างใด โจทก์มิได้ขาดรายได้ระหว่างเจ็บป่วยหรือหากขาดก็ไม่เกิน 5,000 บาท โจทก์มิได้สูญเสียอนาคตในการทำงานหรือบุคคลิกภาพและความสุขสำราญ โจทก์จึงได้รับความเสียหายในส่วนนี้อย่างมากไม่เกิน 10,000 บาท โจทก์ไม่เคยทวงถามจากจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-1503 ร้อยเอ็ด 48และมิได้มีผลประโยชน์ในรถยนต์คันดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของจำเลยที่ 5 โจทก์ใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปไม่เกิน20,000 บาท หลังจากออกจากโรงพยาบาลหรือรักษาทางกายภาพบำบัดอีกโจทก์มีรายได้ตามปกติเดือนละ 2,000 บาท และใช้เวลารักษาตัวเพียงไม่ถึง 1 เดือน โจทก์ จึงขาดประโยชน์ในการประกอบอาชีพเพียง 2,000 บาทและโจทก์มิได้ขาดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลในอนาคตเพราะโจทก์หายเป็นปกติแล้ว และไม่ได้เสียอนาคตในการทำงานหรือบุคคลิกภาพและความสุขสำราญ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเหล่านี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ผลแห่งละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 แต่ฝ่ายเดียว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 5 มิได้เป็นลูกจ้าง ซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ค่าเสียหายที่โจทก์นำมาฟ้องเกินความจริงและเคลือบคลุมไม่มีรายละเอียดพอที่เข้าใจได้ ความเสียหายของโจทก์อย่างสูงไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 513,108 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยกับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ และให้ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ที่ 5
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามจำนวนทุนทรัพย์ตามที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับค่าเสียหายนั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งแพงกว่าโรงพยาบาลของ รัฐบาล ได้ชื่อว่าโจทก์ไม่บรรเทาค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นผู้ มีทุกข์ซึ่งโจทก์ไม่มีส่วนผิดเลยย่อมจะหาความสะดวกเพื่อให้ได้รับทุกข์น้อยที่สุด จำเลยที่ 2 จะไปกะเกณฑ์ให้โจทก์ต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐหาได้ไม่ และจะถือว่าโจทก์ไม่บรรเทาความเสียหายนั้นก็ไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่เช่นนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามที่โจทก์เสียไปจริง ฎีกาจำเลย 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ให้ค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ในระหว่างเจ็บป่วย ค่าขาดประโยชน์ในอนาคตและค่าเสียหายในการสูญเสียอนาคตในการทำงานเสียบุคคลิกภาพ สูงเกินไปและเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นทนายความขณะเกิดเหตุมีเงินเดือนเดือนละ 6,350 บาท โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ ต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวน จำเลยที่ 2 จะเกี่ยงให้หักค่าใช้จ่ายก่อนหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เพียงเดือนละ 6,360 บาท ในเวลาเพียง 3 ปี เป็นเงิน 228,600 บาทนั้นนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่ แล้ว ส่วนค่าเสียหายเนื่องจากทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วยและเสียบุคคลิกภาพ ต่างก็เป็นค่าเสียหายซึ่งไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ศาลย่อมกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรโดยไม่จำต้องแยกว่าเป็นค่าทนทุกข์ทรมานเท่าใดและค่าสูญเสียบุคคลิกภาพเท่าใด ที่ศาลล่างกำหนดให้รวมกันมาเป็นเงิน 100,000 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว และไม่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำกับค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต เพราะการเสียบุคคลิกภาพนั้นเป็นการเสียความมีลักษณะสง่าผ่าเผยในสังคมต่างหากจากการเสียความสามารถในการประกอบการงาน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share