คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยว่าเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเกินกว่าห้าหมื่นบาท โจทก์ทวงถามรวมสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยเพิกเฉย ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ในวันนัดพิจารณาจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องขอเวลาสามเดือนเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากไม่ชำระยอมรับว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนี้ โจทก์ไม่จำต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อให้ได้ความตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อีก เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด และไม่ปรากฏเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวน43,500 บาท เช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จำนวนเงิน 62,000 บาทมาขายเพื่อแลกเงินสดจากโจทก์ โดยกับโจทก์ ว่า หากโจทก์ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ตามกำหนด จำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์จนครบถ้วนพร้อมด้วยดอกเบี้ย ต่อมาปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้น โจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้นั้นแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ทวงถามจำเลยสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยก็เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ และจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การ
ในวันนัดพิจารณา จำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ไม่ติดใจต่อสู่คดี รับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องแย้ง และยังไม่ได้ชำระจริง แต่ขอเวลา 3 เดือน เพื่อหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์หากไม่ชำระยอมรับว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวตามฟ้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดได้ตามกฎหมาย โจทก์แถลงว่าเมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยาน เมื่อทั้งสองฝ่ายแถลงไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงนัดพร้อมหรือฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 7 กรกฎาคม 2531 ถึงวันนัดโจทก์มาศาล จำเลยไม่มา โจทก์แถลงว่าจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามที่แถลง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลาย ตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาไว้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาคดีนี้จึงต้องพิจารณาเอาความจริงว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท และหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ตามฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาทเมื่อจำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ทุกประการ รับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องและยังไม่ได้ชำระจริง แต่ขอเวลาหาเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และมิได้ชำระให้ถือได้ ว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท โจทก์ไม่จำต้องนำสืบพยานหลักฐานอย่างใดต่อไปอีก ข้อที่จำเลยอ้างว่า การแถลงรับข้อเท็จจริงในคดีล้มละลายที่ศาลจะรับฟังได้จะต้องเป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงหลังจากที่โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบให้สมจริงตามฟ้อง และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดไปแล้วนั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดและไม่ปรากฏเหตุ อื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย จึงต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2483 มาตรา 14ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share