แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 30,000 บาท โดยจำเลยลงลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความในสัญญากู้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 65,000 บาทโดยจำเลยมิได้ยินยอมสัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม และถือว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์ จำเลยไม่มีหลักฐานการกู้ยืมตาม ป.พ.พ.มาตรา 653 จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ จำเลยได้เสียค่าอ้างพยานเอกสารภายหลังตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการแก้ไขกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับการอ้างเอกสารซึ่งบกพร่องให้บริบูรณ์แล้ว เอกสารที่จำเลยอ้างจึงใช้ได้ และไม่ทำให้การพิจารณาและพิพากษาของศาลชั้นต้นเสียไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์รวม 65,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่ได้กู้เงินโจทก์ตามฟ้อง หนังสือสัญญากู้ที่โจทก์อ้างเป็นสัญญาปลอม โดยโจทก์นำแบบพิมพ์สัญญากู้ซึ่งมีลายมือชื่อจำเลยลงนามในช่องผู้กู้แล้วเขียนข้อความต่าง ๆ ซึ่งเป็นเท็จและมาฟ้องเป็นคดีนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พยานหลักฐานของจำเลยมีเหตุผลและน่าเชื่อว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินไปตามจำนวน 30,000 บาท เมื่อพ.ศ. 2526 เท่านั้น โดยจำเลยลงลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่กรอกข้อความให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความเองโดยจำเลยมิได้ยินยอม สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม และถือได้ว่าการกู้เงิน ระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยอ้างส่งเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.9 เป็นพยานแต่มิได้เสียค่าอ้างพยานเอกสารตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงถือว่าจำเลยไม่มีพยานเอกสารดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาดนั้น ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ได้ส่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปให้ศาลชั้นต้นอ่านและสั่งว่าให้จำเลยเสียค่าอ้างพยานเอกสารก่อนอ่านคำพิพากษา หากไม่เสียก็ให้ศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คืน ต่อมาจำเลยได้เสียค่าอ้างพยานเอกสารแล้ว การที่จำเลยเสียค่าอ้างพยานเอกสารภายหลังตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการแก้ไขกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับการอ้างเอกสารซึ่งบกพร่องให้บริบูรณ์แล้วเช่นนี้ เอกสารที่จำเลยอ้างจึงใช้ได้และไม่ทำให้การพิจารณาและพิพากษาของศาลชั้นต้นเสียไป…”
พิพากษายืน.