คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น อำนาจในการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในคำพิพากษาจึงอยู่แก่ศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษานั้น และไม่ใช่กรณีที่ต้องอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 หาได้จำกัดเฉพาะที่เกิดจากการขีดเขียนหรือถ้อยคำเท่านั้นไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจำนวน 239,195.80 บาทแก่โจทก์ด้วย แต่เมื่อพิพากษามิได้นำดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นยอดหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เพราะไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระต้นเงินกับดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 48,928.73 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2531เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ และร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้จำนวน 1,794,178.08 บาท ดอกเบี้ยจำนวน239,195.80 บาท รวมเป็นเงิน 2,034,373.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,795,178.08 บาท นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้เสร็จ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,844,106.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 48,928.73 บาท นับแต่วันที่31 ธันวาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 683.66 บาท และดอกเบี้ยอันตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,795,178.08 บาท นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 161,566.03 บาท คดีถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่าศาลชั้นต้นมิได้นำดอกเบี้ยจำนวน 239,195.80 บาท มารวมเป็นยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์ ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขเป็นว่า “พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,083,302.61 บาท…” นอกจากที่มีคำสั่งแก้ไขนี้คงเป็นไปตามข้อความเดิมทุกประการ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาที่จะวินิจฉัยประการแรกมีว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก บัญญัติว่า”ถ้าในคำพิพากษาหรือคำสั่งใดมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ และมิได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เมื่อศาลที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องรัอง ขอ ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกก็ได้ แต่ถ้าได้มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้นย่อมอยู่แก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี…” คดีนี้ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉะนั้นอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงจึงอยู่แก่ศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษานั้น ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อที่โจทก์ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย และเมื่อแก้ไขเพิ่มเติมแล้วจะเป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่โจทก์ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นเรื่องดอกเบี้ยซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาเดิมแล้ว หาใช้เป็นการขอให้ศาลชั้นต้นทำคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี อันจะมีผลเป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยเดิมของศาลชั้นต้นแต่ประการใด แต่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ซึ่งหาได้จำกัดเฉพาะที่เกิดจากการขีดเขียนหรือถ้อยคำเท่านั้นไม่ แต่หมายความรวมถึงกรณีเช่นนี้ด้วยและโจทก์ไม่จำต้องอุทธรณ์หรือฎีกาไปตามลำดับขั้นตอนภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด
พิพากษายืน.

Share