คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)ในกรณีที่มิใช่เป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนของนายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของนายจ้างนายจ้างจึงได้เลิกจ้างตามคำตักเตือนนั้น หนังสือตักเตือนโจทก์ทั้งสี่ของจำเลยมีข้อความว่า เมื่อมีการตักเตือน 3 ครั้งแล้วจะถูกพักงานทันที แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนที่โจทก์ทั้งสี่กระทำผิดครั้งนี้ จำเลยเคยตักเตือนโจทก์ที่ 1มาแล้วเพียง 2 ครั้ง และตักเตือนโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 เพียงคนละ1 ครั้ง ในเหตุเดียวกัน ดังนั้นการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ทั้งสี่กระทำผิดซ้ำคำเตือนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือตักเตือนอันจะทำให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยมิต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3).

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่การงานและขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยจำเลยได้เคยตักเตือนเป็นหนังสือแล้วจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสี่คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ระบุถึงกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามข้อ 47(3) ว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน ซึ่งจากข้อกำหนดตามประกาศในข้อนี้เห็นได้ว่า ในกรณีที่มิใช่เป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนของนายจ้างหรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือนของนายจ้าง นายจ้างจึงได้เลิกจ้างตามคำตักเตือนนั้นคดีนี้ปรากฏข้อความตามหนังสือตักเตือนโจทก์ทั้งสี่ของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.12 ว่า เมื่อมีการตักเตือน 3 ครั้งแล้วจะถูกพักงานทันที ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนที่โจทก์ทั้งสี่กระทำผิดครั้งนี้จำเลยได้เคยตักเตือนโจทก์ที่ 1 มาแล้วเพียง 2 ครั้ง และตักเตือนโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 4 เพียงคนละ 1 ครั้ง ในเหตุเดียวกันการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ทั้งสี่กระทำผิดคำเตือนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือตักเตือนดังกล่าว อันจะทำให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยมิต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3)
พิพากษายืน.

Share