คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยร่วมกันเข้าหุ้นส่วนอย่างไร จำเลยคนไหนแต่ผู้เดียวหรือร่วมกับใครบ้างมาทำสัญญาเช่าฉบับไหน เมื่อใด ครั้งไหนที่แทนกัน มีใบมอบอำนาจหรือตั้งตัวแทนหรือไม่ โดยเฉพาะข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเข้าหุ้นส่วนโจทก์จะต้องบรรยายให้เข้าลักษณะหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1026 ว่าจำเลยคนไหนลงหุ้นอย่างไร ด้วยอะไร อันจะถือว่าเป็นหุ้นส่วน ฟ้องโจทก์จึงไม่ชัดเจนเป็นฟ้องเคลือบคลุม นั้น เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมด้วยเหตุดังที่จำเลยฎีกามาดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า จำเลยร่วมกันเป็นหุ้นส่วนอย่างไรก็ตาม แต่การที่จำเลยแต่ละคนจะเข้าหุ้นส่วนกันอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องก็ได้ การนำสืบของโจทก์ในข้อนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง โจทก์ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน ดังนั้น จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนมาฟังเป็นยุติในคดีนี้ได้ จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4รับเหมาช่วงงานก่อสร้างทางพิพาทจากบริษัท ภ. จำเลยที่ 3จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นในอันที่จะต้องชำระค่าเช่ารถแทรกเตอร์ที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ลงชื่อเป็นผู้เช่าหรือมอบหมายเป็นหนังสือให้จำเลยอื่นลงชื่อในสัญญาเช่ารถแทรกเตอร์แทนจำเลยที่ 3 ก็ตาม จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า สัญญาเช่าที่โจทก์อ้างน่าจะไม่เป็นความจริงโจทก์อาจเพิ่งมาทำขึ้นภายหลังโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 4เพื่อโยนความรับผิดไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งมีฐานะการเงินมั่นคงอยู่ นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ข้อ คือ1.ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ 2.จำเลยทั้งห้าเป็นหุ้นส่วนกันหรือไม่และ 3.จำเลยเช่ารถตามฟ้องใช่หรือไม่ ดังนี้ ประเด็นว่าค่าเช่ารถมีเพียงไร ย่อมเป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อ 3 แล้วจึงถือว่าอยู่ในประเด็นข้อ 3 ด้วย ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องค่าเช่าอีก ก็ถือว่าคดีมีประเด็นเรื่องค่าเช่าด้วย โจทก์จึงมีสิทธินำสืบในประเด็นค่าเช่า และศาลมีอำนาจวินิจฉัยให้ได้ บริษัทภ.รับเหมาก่อสร้างทางให้แก่กรมทางหลวง และบริษัทภ.ได้ให้จำเลยรับเหมาช่วงงานก่อสร้างทางดังกล่าวซึ่งจำเลยก็ได้เช่ารถแทรกเตอร์ของโจทก์ไปใช้ในการก่อสร้างทางดังกล่าว แต่จำเลยไม่สามารถสร้างทางให้แล้วเสร็จภายในกำหนดในสัญญา ดังนี้จำเลยจะถือเอาวันที่กรมทางหลวงบอกเลิกสัญญากับบริษัทภ. เป็นวันที่สัญญาเช่ารถแทรกเตอร์ระงับ และให้คิดค่าเช่าถึงวันดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะวันเลิกสัญญาก่อสร้างทางกับวันที่จำเลยเช่าและผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ารถแทรกเตอร์เป็นคนละส่วนแยกออกจากกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วน จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันและแทนกันเช่ารถแทรกเตอร์จากโจทก์รวม 10 คัน เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน และติดค้างชำระค่าเช่าโจทก์อยู่รวมเป็นเงิน6,994,890 บาทจำเลยส่งคืนรถแทรกเตอร์คันสุดท้ายให้แก่โจทก์วันที่ 29 พฤศจิกายน 2524 ซึ่งถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีถึงวันฟ้องเป็นเงิน524,616.75 บาท ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน จำนวน7,519,506.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 6,994,890 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยมิได้รับเหมาช่วงงานจากบริษัทภาณุมาศ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาสร้างทางหลวงจากกรมทางหลวง และมิได้เช่ารถแทรกเตอร์จากโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกับนายสุเทพ วิภูศิริ ทำการสำรวจ ออกแบบและก่อสร้างทางหลวงกับนายไพโรจน์ แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงงานมาจากบริษัทภาณุมาศ จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับประโยชน์ใด ๆ จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่ารถแทรกเตอร์จากโจทก์ค่าเช่ารถแทรกเตอร์ตามฟ้องเกินความจริงซึ่งไม่เกิน1,000,000 บาท จำเลยที่ 5 เป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 2เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้บริหารงานสร้างทางหลวงไว้ตกลงให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันไปเช่ารถแทรกเตอร์จากโจทก์รวม 2 คัน ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไว้180,000 บาท แต่โจทก์ส่งรถที่เช่ามาให้เพียงคันเดียว ต่อมาโจทก์ได้ร่วมลงทุนในการสร้างทางหลวงสายนี้ด้วยรถแทรกเตอร์2 คัน มีมูลค่า 2,000,000 บาท สำหรับค่าเช่ารถแทรกเตอร์ 1 คัน นั้นจะชำระเมื่อได้รับเงินค่าก่อสร้างจากกรมทางหลวง แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้รับชำระ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าจากจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเหมาช่วงงานจากบริษัทภาณุมาศ จำกัด จำเลยที่ 4 ไม่เคยเข้าร่วมลงทุนหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่เคยเช่ารถแทรกเตอร์ของโจทก์ ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน จำนวน 7,353,358.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 6,829,890 บาท นับตั้งแต่วันที่29 พฤศจิกายน 2525 ซึ่งเป็นวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าบริษัทภาณุมาศ จำกัด รับเหมาก่อสร้างทางหลวงสายบ้านป่าแดง-บ้านสะเดาะพงจากกรมทางหลวง ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนรับเหมาช่วงงานก่อสร้างทางดังกล่าว แต่ไม่สามารถสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดในสัญญา กรมทางหลวงจึงบอกเลิกสัญญา และไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่บริษัทภาณุมาศ จำกัด และในการรับเหมาช่วงงานดังกล่าวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ร่วมกันเช่ารถแทรกเตอร์ไปจากโจทก์รวม 10 คัน และติดค้างชำระค่าเช่าโจทก์รวมทั้งดอกเบี้ยก่อนฟ้องเป็นเงิน 7,353,358.97 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเป็นหุ้นส่วน จึงไม่ต้องรับผิดด้วย
จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยร่วมกันเข้าหุ้นส่วนอย่างไร จำเลยคนไหนแต่ผู้เดียวหรือร่วมกับใครบ้างมาทำสัญญาเช่าฉบับไหน เมื่อใด ครั้งไหนที่แทนกัน มีใบมอบอำนาจหรือตั้งตัวแทนหรือไม่ โดยเฉพาะที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเข้าหุ้นส่วนโจทก์จะต้องบรรยายให้เข้าลักษณะหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1026 ว่า จำเลยคนไหนลงหุ้นอย่างไรด้วยอะไร อันจะถือว่าเป็นหุ้นส่วน ฟ้องโจทก์จึงไม่ชัดเจน อ่านแล้วไม่เข้าใจพอจะให้จำเลยต่อสู้คดีเต็มที่ได้นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมด้วยเหตุดังที่ฎีกามา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ร่วมดำเนินการอย่างหุ้นส่วนแต่ไม่บรรยายว่าร่วมกันอย่างไรโจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำสืบว่าร่วมหุ้นส่วนกันโดยวิธีใด การนำสืบของโจทก์จึงไม่ชอบ และห้ามมิให้รับฟังเห็นว่า แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันเป็นหุ้นส่วนอย่างไรก็ตามแต่การที่จำเลยแต่ละคนจะเข้าหุ้นส่วนกันอย่างไรเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องก็ได้ การนำสืบของโจทก์ในข้อนี้จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าการนำสืบของโจทก์ก็ไม่ต้องด้วยข้อเท็จจริง โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลผู้มีอำนาจกระทำการแทนคือนางสาวพวงเพชร ลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 และประทับตราของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่กลับปรากฏตามเอกสารหมาย ล.13ว่า ผู้ที่ทำสัญญารับช่วงงานสร้างทางพิพาทจากบริษัทภารุมาศ จำกัดคือ จำเลยที่ 2 กับนายไพโรจน์และนายสุเทพ แสดงว่าทั้งสามคนรับช่วงงานส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3มีนางสาวพวงเพชรผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 นายมานิตย์สมุหบัญชีและพนักงานรับสมัครคนงานของบริษัทภาณุมาศ จำกัดนายมนต์ นางยงยุทธ และนายกำธร ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3270/2531 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการโจทก์ พันเอกสมหมาย พูลทรัพย์ โจทก์ร่วม นายมานิตย์ ประยูรหงษ์จำเลย ก็ชี้ขาดว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 2 ในการรับเหมาช่วงงานสร้างทางพิพาทแต่อย่างใด นั้นเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 3 อ้างเป็นคดีอาญาข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งศาลฎีกาเพียงแต่วินิจฉัยว่า ตามคำเบิกความของจำเลย (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้)ในคดีดังกล่าวประกอบกับสัญญาผู้ร่วมทำงานก่อสร้างเอกสารหมาย จ.19ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วม (จำเลยที่ 3 ในคดีนี้) หรือบริษัทวราวุธจำกัด (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) เข้าเกี่ยวข้องแต่ประการใดเท่านั้นหาได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยอื่นในการรับเหมาช่วงงานก่อสร้างทางพิพาท อีกทั้งโจทก์ในคดีนี้ก็มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย ฉะนั้น จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวมาฟังเป็นยุติในคดีนี้ได้ แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 รับเหมาช่วงงานก่อสร้างทางหลวงจากบริษัทภาณุมาศ จำกัด จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ชำระค่าเช่ารถแทรกเตอร์ที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่า หรือมอบหมายเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ลงชื่อในสัญญาเช่ารถแทรกเตอร์แทนจำเลยที่ 3 ก็ตาม ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า สัญญาเช่าที่โจทก์อ้างน่าจะไม่เป็นความจริง กรณีอาจเพิ่งมาทำขึ้นภายหลังโดยคบคิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 เพื่อโยนความรับผิดไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งมีฐานะการเงินมั่นคงอยู่ นั้น ก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเช่ารถแทรกเตอร์ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธภาระการพิสูจน์ตกแก่ โจทก์จะต้องนำสืบในเรื่องค่าเช่าให้สมฟ้องแต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเรื่องค่าเช่าเป็นประเด็นในคดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำสืบและโจทก์ต้องแพ้คดี ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังตามที่โจทก์นำสืบจึงคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตามหากจะฟังตามคำฟ้องและคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็เห็นว่าค่าเช่าไม่เกิน100,000 บาท ศาลพิพากษาให้มากกว่านี้ไม่ได้ หรือหากจะฟังข้อเท็จจริงก็น่าจะฟังว่าสัญญาเช่าระงับเมื่อถูกกรมทางหลวงบอกเลิกสัญญา คือวันที่ 8 กรกฎาคม 2524 เพราะงานทุกชนิดรวมทั้งรถที่เช่าก็ต้องหยุดทำงานนับแต่วันนั้น ค่าเช่าควรคิดถึงวันดังกล่าวนี้เท่านั้น พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ข้อ คือ 1. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ 2. จำเลยทั้งห้าเป็นหุ้นส่วนกันหรือไม่ และ 3. จำเลยเช่ารถตามฟ้องใช่หรือไม่เห็นว่า ค่าเช่ารถมีเพียงไรเป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อ 3 แล้ว จึงถือว่าอยู่ในประเด็นข้อ 3 ด้วย ฉะนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องค่าเช่าอีกก็ถือว่าคดีมีประเด็นเรื่องค่าเช่าด้วยแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำสืบในประเด็นค่าเช่าและศาลมีอำนาจวินิจฉัยให้ได้ ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ให้การยอมรับแล้วว่าค่าเช่ารถไม่เกิน 1,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3คาดคะเนว่ามีไม่เกิน 100,000 บาท จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟังเป็นความจริงได้ และเกี่ยวกับค่าเช่านี้ในสัญญาเช่าและบันทึกการใช้รถที่เช่าตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.12 ก็ได้ระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่าค่าเช่ารถวันละเท่าใด ระยะเวลาทำงานของรถที่เช่ามีกี่วัน จำเลยที่ 3 หาได้มาสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ติดค้างชำระค่าเช่ารถแก่โจทก์อยู่ 6,829,890 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อวันที่13 พฤศจิกายน 2524 โดยกำหนดให้ชำระภายใน 7 วัน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2524 แล้วไม่ชำระ จำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2524 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 373 วัน จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นเงิน 523,468.97 บาท ด้วยรวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ถึงวันก่อนฟ้องทั้งสิ้น 7,353,358.97 บาท และจำเลยที่ 3 จะถือเอาวันที่กรมทางหลวงบอกเลิกสัญญาก่อสร้างทางพิพาทกับบริษัทภาณุมาศ จำกัดเป็นวันที่สัญญาเช่ารถระงับและคิดค่าเช่าถึงวันดังกล่าวหาได้ไม่เพราะวันเลิกสัญญาก่อสร้างทางพิพาทกับวันที่จำเลยเช่าและผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ารถเป็นคนละส่วนแยกออกจากกันได้
พิพากษายืน

Share