คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นอะไหล่ยานยนต์ที่มีเครื่องหมายการค้าเอ็น.พี.อาร์.ไดโด้และฟูจิซึ่งยานยนต์ยี่ห้อโคมัตสุมิตซูบิชิโตโยต้า ซูบารุนิสสันและอีซูซุ ใช้ทดแทนอะไหล่แท้ เมื่อบัญชีราคาสินค้าที่ตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ยี่ห้อดังกล่าวยื่นต่อเจ้าหน้าที่ประเมินอากรได้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติแล้ว ราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าจึงควรมีราคาตามบัญชีราคาสินค้าดังกล่าวหรือใกล้เคียงกัน แต่ปรากฏว่าราคาตามที่โจทก์สำแดงนั้นต่ำกว่าราคาตามบัญชีราคาสินค้าดังกล่าวมากและโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าแตกต่างกับสินค้าตามบัญชีราคาสินค้านั้นที่ตัวสินค้าหรือภาชนะบรรจุอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ราคาต่างกันมากเช่นนั้นราคาที่โจทก์สำแดงจึงมิใช่ราคาขายส่งเงินสดทั่วไปที่ไม่มีการลดหย่อนราคาแก่กัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามคำสั่งทั่วไป กรมศุลกากรที่ 28/2527 โดยเปรียบเทียบกับราคาตามบัญชีราคาสินค้าของอะไหล่แท้และถือเกณฑ์ให้ต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 5 ในกรณีอะไหล่ดังกล่าวใช้ได้กับยานยนต์หลายยี่ห้อให้ใช้ราคาอะไหล่แท้ที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ และให้ต่างกันไม่เกินร้อยละ 20 ในกรณีที่ใช้ทดแทนอะไหล่แท้โดยทั่วไป จึงเป็นการประเมินโดยการเปรียบเทียบราคาที่มีเหตุผล ถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยซึ่งแหวนลูกสูบกาบเพลา กระบอกลูกสูบ วาวและบ่าวาวของเครื่องยนต์ที่มีเครื่องหมายการค้า เอ็น.พี.อาร์.ไดโด้ และฟูจิ จากประเทศญี่ปุ่น โดยสำแดงราคาตามบัญชีราคาสินค้า แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเกินกว่าที่ควรต้องเสียไปจำนวน2,817,982.71 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าการประเมินไม่ชอบและขอให้เพิกถอนการประเมินกับให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าเพิ่มขึ้น โดยถือตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่28/2527 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2527 เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีทั้งสองประเภทดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นอะไหล่ยานยนต์ที่มีเครื่องหมายการค้าเอ็น.พี.อาร์.ไดโด้และฟูจิ ซึ่งยานยนต์ยี่ห้อโคมัตสุ ฮีโนมิตซูบิชิ โตโยต้า ซูบารุ นิสสัน และอีซูซุใช้ทดแทนอะไหล่แท้ในบัญชีราคาสินค้าที่ตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ยี่ห้อดังกล่าวยื่นต่อเจ้าหน้าที่ประเมินอากรได้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติแล้ว ราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าจึงควรมีราคาตามบัญชีราคาสินค้า หรือใกล้เคียงกับราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ยี่ห้อดังกล่าวเสนอให้เจ้าหน้าที่ประเมินอากรได้ตรวจสอบและรับรองราคาไว้แต่ปรากฏว่าราคาที่โจทก์สำแดงนั้นต่ำกว่าราคาตามบัญชีราคาสินค้ามากโดยโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าแตกต่างกับสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าที่ตัวสินค้าหรือภาชนะบรรจุอย่างไรอันจะเป็นเหตุให้ราคาต่างกันมากเช่นนั้น ดังนั้นราคาที่โจทก์สำแดง จึงไม่ใช่ราคาขายส่งเงินสดทั่วไปที่ไม่มีการลดหย่อนราคาแก่กัน ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาด ฉะนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 โดยเปรียบเทียบกับราคาตามบัญชีราคาสินค้าของอะไหล่แท้และถือเกณฑ์ให้ต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 5 ในกรณีที่อะไหล่ดังกล่าวใช้ได้กับยานยนต์หลายยี่ห้อ ให้ใช้ราคาของอะไหล่แท้ที่สูงกว่าเป็นเกณฑ์ และต่างกันไม่เกินร้อยละ 20 ในกรณีที่ใช้ทดแทนได้กับอะไหล่แท้โดยทั่วไป จึงเป็นการเทียบราคาที่มีเหตุผล ถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามกฎหมาย การประเมินราคาเพิ่มขึ้นของเจ้าพนักงานจำเลยชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share