คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทย์ฟ้องว่า จำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ อันเป็นวีดิทัศน์ และแผ่นวิดีโอซีดีภาพยนตร์อันเป็นภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เท่ากับโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตข้อหาหนึ่ง และประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกข้อหาหนึ่ง แต่มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54, 82 ซึ่งหมายถึงให้ลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ด้วย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 และให้ลงโทษตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักกว่านั้น จึงเป็นการพิพากษาลงโทษในข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษอันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 เวลาประมาณ 18.10 นาฬิกา จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ
(1) ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์โดยการนำแผ่นซีดีเพลงเอ็มพี 3 และวีซีดีคาราโอแกะซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 35 แผ่น ออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปอันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
(2) ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทภาพยนตร์และโสตทัศนวัสดุของบริษัทพระนครฟิล์ม จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ โดยการนำแผ่นวิดีโอซีดีซึ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 14 แผ่น ออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปอันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 2 และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
(3) ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นซีดีเอ็มพี 3 วีซีดีคาราโอเกะ และวิดีโอซีดีภาพยนตร์ อันเป็นภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ ที่แผงลอยบริเวณตลาดนัดขนส่งเทิง รวม 106 แผ่น โดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายและมิได้รับการยกเว้นใดๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 54 และ 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 91 ให้แผ่นซีดีเพลง เอ็มพี 3 วีซีดีคาราโอเกะและวิดีโอซีดีภาพยนตร์จำนวน 49 แผ่น ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ของกลางที่เหลืออีก 57 แผ่น ให้ริบ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัตลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) และ 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 ประกอบมาตรา 79 และมาตรา 54 ประกอบมาตรา 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ให้รอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ส่วนความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 ประกอบมาตรา 79 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 100,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ของกลางจำนวน 49 แผ่น ที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ให้ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนโทษปรับรายวันตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 ประกอบมาตรา 79 โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยยังคงประกอบกิจการโดยฝ่าฝืนกฎหมายจึงไม่กำหนดโทษในส่วนนี้ ยกคำขอให้ริบของกลางอื่นจำนวน 57 แผ่น เพราะการกระทำของจำเลยเป็นความผิดที่ไม่ได้รับใบอนุญาต
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ในเบื้องต้นเห็นว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยรวมกันมาในฟ้อง จำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ อันเป็นวีดิทัศน์ และแผ่นวิดีโอซีดีภาพยนตร์ อันเป็นภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เท่ากับโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตข้อหาหนึ่ง และประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกข้อหาหนึ่ง แต่มีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54, 82 ซึ่งหมายถึงให้ลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ด้วย ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 และให้ลงโทษตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักกว่านั้น จึงเป็นการพิพากษาลงโทษในข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษอันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง โดยปรับบทลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, ประกอบมาตรา 82 โดยให้ปรับ 100,000 บาท และเมื่อโทษปรับที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกำหนดลงโทษแก่จำเลยเป็นอัตราโทษปรับขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่อาจลดโทษปรับตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ลดโทษจำเลยอีกได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จำเลยมีความผิดเฉพาะฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 เท่านั้น ให้ลงโทษปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 50,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share