แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดิน น.ส.3 ที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นของโจทก์จะมีราคาเพียง 25,000 บาท และการที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดรื้อถอนเขื่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 สมคบกันบุกรุกเข้าไปสร้างในนามของจำเลยที่ 1 โดยละเมิดออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากการละเมิด 5,000 บาท จะเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลในกรณีอื่นออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละห้าพันบาทก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้ด้วยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วโจทก์ไม่โต้แย้ง จำเลยที่ 1 จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอันเป็นการกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมิต้องห้ามไม่ให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 122 ตำบลปากตะโก กิ่งอำเภอทุ่งตะโกจังหวัดชุมพร เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม 2525จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้สมคบกันบุกรุกเข้าไปสร้างเขื่อนในนามของจำเลยที่ 1 ตามแนวชายทะเลในที่ดินโจทก์ ปิดกั้นหน้าที่ดินโจทก์ยาวประมาณ 2 เส้น โดยจำเลยที่ 1 สนับสนุนรู้เห็นเป็นใจ เพื่อจะเอาที่ดินตามแผนที่ที่งอกหน้าที่ดินโจทก์ไปเป็นที่ดินสาธารณะ ทำให้โจทก์ใช้สอยที่ดินและนำสิ่งของต่าง ๆ ลงไปในลงไปในทะเลหรือขึ้นจากทะเลไม่ได้ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงเป็นที่ดินของโจทก์ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 กับบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับให้จำเลยทั้งเจ็ดรื้อถอนเขื่อนออกจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 5,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ระหว่างที่ดินโจทก์กับที่ดินพิพาทมีถนนสาธารณะคั่นกลาง ที่ดินพิพาทงอกออกจากขอบถนนสาธารณะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว โจทก์ไม่โต้แย้งจำเลยที่ 1 จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ดำเนินการฟ้องร้องในกำหนดเวลา1 ปีจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครอง การสร้างเขื่อนไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการสุขาภิบาลปากตะโก ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่บรรยายให้ทราบว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทเนื้อที่เท่าไรเมื่อใด ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกจากทางสาธารณะประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครอง ทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ไม่ดำเนินการฟ้องร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 7 บุกรุกที่ดินโจทก์เมื่อวันเดือนปีใด บุกรุกที่ดินส่วนใดเนื้อที่เท่าไร จำเลยที่ 7 เข้าไปสร้างเขื่อนในที่ดินพิพาทจริงโดยรับจ้างจำเลยที่ 1 สร้างที่ดินพิพาทเป็นที่งอกจากทางสาธารณประโยชน์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งเจ็ดและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด 5,000 บาท คำขอจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพียง2,000 บาท แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 258 นั้น เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทตามฟ้องที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นของโจทก์จะมีราคาเพียง25,000 บาท และการที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดรื้อถอนเขื่อนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 สมคบกันบุกรุกเข้าไปสร้างในนามของจำเลยที่ 1โดยละเมิดออกไปจากที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายจากการละเมิด5,000 บาท จะเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทและเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลในกรณีอื่นออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละห้าพันบาทก็ตามแต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้ด้วยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว โจทก์ไม่ได้โต้แย้ง จำเลยที่ 1 จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอันเป็นการกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1จึงมิต้องห้ามไม่ให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.