แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยมีชื่อ ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งตกอยู่ ในภารจำยอมของที่ดินโจทก์ เมื่อจำเลยสร้างรั้วคอนกรีตปิดกั้นที่ดินพิพาททำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะฟ้องจำเลยได้ หาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกระหว่างทางสาธารณะกับที่ดินของโจทก์เป็นเวลากว่า 10 ปี แม้จะมีการกั้นรั้วไม้ในที่ดินพิพาทแต่ก็ถูกรื้อออกภายในเดือนเดียวกัน และโจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมา จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ที่ดินพิพาทโดยความไม่สงบหรือมิได้ใช้ติดต่อกันเกิน 10 ปี สิทธิการใช้ที่ดินอันตก เป็นภารจำยอมนั้นกฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ หาได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะไม่ทั้งตก ติดไปยังผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสามยทรัพย์นั้นด้วย เมื่อโจทก์เป็นผู้ใช้ทางพิพาทในขณะโจทก์ฟ้องแม้ต่อมาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ได้โอนขายที่ดินของโจทก์แก่บุคคลอื่น ก็หาทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ระงับไปไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ 6819, 6820, 6836, 7868, 7869, 7870, 7871, 7882 ตำบลมหาชัยอำเภอเมืองสมุทรสาคร โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6823ตำบลมหาชัย อำเภอเมือสมุทรสาคร โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของโฉนดเลขที่6824 ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร และโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของโฉนดเลขที่ 11487 ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครที่ดินของโจทก์ทั้ง 47 อยู่ติดถนนสาธารณะ โดยอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนสาธารณประโยชน์ ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7070 ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร อยู่ทางทิศตะวันออกของถนนสาธารณประโยชน์และอยู่ติดกับถนนเศรษฐกิจ 1 โจทก์ทั้ง 4 และเจ้าของที่ดินเดิมได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเดิน ใช้รถยนต์และยานพาหนะอื่นเข้าออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1กว้างประมารณ 5 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร ติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี โดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้ภาระจำยอม ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2527 จำเลยได้ทำรั้วคอนกรีตปิดกั้นทางภาระจำยอม ทำให้โจทก์ทั้ง 4 และบุคคลอื่นไม่สามารถใช้รถยนต์และพาหนะเข้าออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 ได้ ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุภาพรวงศ์เชิดขวัญ จดทะเบียนภาระจำยอมลงในโฉนดที่ดินเลขที่ 7070 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตที่ปิดกั้นทางภาระจำยอม หากจำเลไม่ยอมรื้อ ให้โจทก์ทั้ง4 เป็นผู้รื้อแทนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ได้อาศัยหรือถือวิสาสะผ่านที่พิพาทไม่ได้ใช้ทางพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้ได้ภาระจำยอม เดิมที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่น ๆ อยู่ติดกับถนนเศรษฐกิจ 1 เป็นที่ว่างเปล่า โดยเป็นที่ดินที่คั่นระหว่างถนนเศรษฐกิจ 1 กับที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากเจ้าของเดิมเป็นที่ดินว่างเปล่าเช่นเดียวกับที่ดินพิพาท ตลอดจนมิได้มีการใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออก ครั้นต่อมาเจ้าของที่ดินเดิมจัดสรรแบ่งขายให้บุคคลภายนอก และได้แบ่งแยกที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณะและสามารถออกสู่ถนนสาธารณะคือถนนท่าปรงและซอยสีมิตรได้โดยสะดวก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2517 ถึง 2519 โจทก์ได้ปลูกบ้านเพื่อให้บุคคลเช่าและอยู่อาศัย ผู้เช่าได้ใช้ที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นที่คั่นอยู่ระหว่างถนนเศรษฐกิจ 1 กับที่ดินเจ้าของเดิมจัดสรรเป็นทางเดินเข้าออกชั่วคราวโดยมิได้เจาะจงว่า ทางเดินจะอยู่ ณ ที่ใด และมิได้มีเจตนาที่จะใช้ให้เป็นทางเดินภาระจำยอม ครั้นต่อมามารดาจำเลยได้สงวนสิทธิในที่ดินพิพาทมิให้บุคคลภายนอกใช้เป็นทางเดินเข้าออกโดยสงบและโดยเปิดเผยได้ มารดาจำเลยได้ทำรั้วกั้นตามแนวเขตที่พิพาท แต่ต่อมาปรากฏว่ามีคนบุกรุกที่ดินพิพาทและรื้อถอนรั้วที่มารดาจำเลยได้สร้างไว้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2519 มารดาจำเลยจึงได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน การที่โจทก์เข้าออกผ่านที่ดินพิพาทเป็นเพราะโจทก์เห็นว่าสะดวกกว่าการออกไปสู่ทางสาธารณะอื่น โจทก์ได้ให้บุคคลเช่าบ้านประมาณ 20 หลังคาเรือน หากผู้เช่าสามารถเดินผ่านที่พิพาท โจทก์จะได้ประโยชน์จากการเก็บค่าเช่ามากขึ้น อีกทั้งราคาที่ดินของโจทก์ย่อมสูงตามไปด้วย โจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้โจทก์และให้รื้อถอนรั้วคอนกรีตที่ปิดกั้นทางภาระจำยอม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนทางภาระจำยอมในที่ดินพิพาทแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 6819, 6823, 6824 คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่างใช้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่7070 ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 เป็นทางผ่านเข้าออกระหว่างถนนเศรษฐกิจ 1 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 6819, 6823 และ 6824 ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1, จ.23 และ จ.24 ตามลำดับ เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมของที่ดินโจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 เพียง 3 แปลงนั้น โจทก์ทั้งสี่มิได้ฎีกาโต้แย้ง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุภาพร วงศ์เชิดขวัญ โดยกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของสุภาพรตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโจทก์ ต่อมาจำเลยได้สร้างรั้วคอนกรีตปิดกั้นที่ดินพิพาท ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 ได้ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มีบ้านให้บุคคลอื่นเช่า หากผู้เช่าสามารถเดินผ่านเข้าออกที่ดินพิพาทได้โดยเป็นภาระจำยอมแล้ว โจทก์ก็จะได้ประโยชน์จากการเก็บค่าเช่ามากขึ้นทั้งทำให้ที่ดินของโจทก์มีราคาสูงด้วย เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้เช่นนั้น ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทตกเป็นภาระจำยอมของที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3โดยอายุความหรือไม่ โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่6819 จากนายอุดม มีความสุข เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2515 ขณะนั้นที่ดินพิพาทเป็นทางเดินอยู่แล้ว นอกจากคนเดินยังมีรถยนต์ รถสามล้อใช้ทางนี้เข้าออก โจทก์ที่ 1 ปลูกบ้านเลขที่ 927/214, 924/215 และ927/216 บนที่ดินดังกล่าว ในการปลูกบ้านสามหลังนี้ โจทก์ที่ 1 ขนวัสดุก่อสร้างผ่านที่ดินพิพาทเข้าไป ปลูกสร้างเสร็จก็เข้ามาอยู่ในบ้านหลังเลขที่ 927/216 ทันที และใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกระหว่างบ้านดังกล่าวกับถนนเศรษฐกิจ 1 ตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 6823 จากนายย้อย นางต่วน เมื่อปี พ.ศ. 2506 ตอนซื้อเป็นที่ดิน ส.ค.1 ต่อมาปี พ.ศ. 2507 โจทก์ที่ 2 ขอออกโฉนดที่ดิน ปี พ.ศ. 2509 โจทก์ที่ 2ปลูกบ้านบนที่ดินนั้น 1 หลัง แบ่งเป็น 4 ห้อง โจทก์ที่ 2 อยู่อาศัยเอง 1 ห้อง ให้นายมล นายไสว และนายนิลเช่าคนละ 1 ห้อง โจทก์ที่ 2และบุคคลดังกล่าวใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกติดต่อกันจนถึงปี พ.ศ. 2519 โจทก์ที่ 2 ย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ผู้เช่าทั้งสามคนยังอยู่ในห้องเช่าของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไปดูบ้านนั้นเดือนละ 2ครั้ง โดยโจทก์ที่ 2 และผู้เช่าห้องทั้งสามยังคงใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกตลอดมา โจทก์ที่ 3 เบิกความว่าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่6824 จากนางสาวปราณีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2516 โจทก์ที่ 3 ปลูกเล้าหมูในที่ดินนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 ต่อมาอีก 2 ปี จึงปลูกบ้านบนที่ดินดังกล่าว โจทก์ที่ 3 ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์ที่ 3 กับถนนเศรษฐกิจ 1 เกือบทุกวันตลอดมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 นายอุดม มีความสุข พยานโจทก์ เบิกความสนับสนุนว่าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 6819 มาเมื่อปี พ.ศ. 2507 ต่อมาขายให้โจทก์ที่ 1ทางพิพาทมีมาก่อนนายอุดมซื้อที่ดิน คนที่เช่าบ้านนางสุขจิตต์ถ้าจะออกทางถนนเศรษฐกิจ 1 ต้องผ่านที่ดินพิพาท คนที่เข้าออกที่ดินพิพาทวันหนึ่งประมาณ 50-60 คน ระหว่างใช้ที่ดินพิพาทไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน นายอุดมเป็นพนักงานขายจักรซิงเกอร์ เข้าออกที่ดินพิพาทเป็นประจำโดยเข้าไปส่งจักรขายให้นางสุขจิตต์ ย่อมรู้รายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นอย่างดี คำเบิกความของนายอุดมมีน้ำหนักรับฟังได้นอกจากนี้ยังได้ความจากนายมนต์ เจริญสุข ซึ่งเช่าห้องแถวของนางสุขจิตต์ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2514 นายเม้ง แซ่ลิ้ม ซึ่งเช่าบ้านนายเจี๊ยะเซ้งตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2513 และนายโกมล รอดอนันต์ ซึ่งช่วยบิดามารดาค้าขายส่งถ่านและข้าวสารให้แก่ลูกค้า ว่า ได้ใช้ที่ดินพิพาทออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 และเข้าบ้านโดยผ่านที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โดยไม่มีผู้ใดอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ ประกอบกับนายเดือน สินธุพันธ์ประทุม พยานจำเลย เบิกความเจือสมคำพยานโจทก์ว่า ได้ปลูกบ้านด้านหลังที่ดินพิพาทโดยขนวัสดุก่อสร้างผ่านที่ดินพิพาท เมื่อ พ.ศ. 2506 หรือ พ.ศ. 2507 เมื่อปลูกเสร็จก็เดินเข้าออกที่ดินพิพาทเป็นประจำ เพราะสะดวกกว่าทางอื่นซึ่งเป็นป่า แม้ต่อมานางสุขจิตต์ภรรยานายเดือนปลูกห้องให้เช่า ผู้เช่าห้องก็ใช้ทางเดินเข้าออกที่ดินพิพาทสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 แต่นายเดือนบ่ายเบี่ยงว่า การที่เดินผ่านที่ดินพิพาทได้ขออนุญาตนางทองย้อยยายจำเลย ที่จำเลยนำสืบโต้แย้งว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2519 นางสุภาพรมารดาจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในขณะนั้น ได้ล้อมรั้วที่ดินพิพาทโดยด้านที่ติดถนนเศรษฐกิจ 1 ทำเป็นไม้กั้นมีป้ายติดข้อความว่า”ที่หวงห้ามห้ามผ่าน” ที่ดินพิพาทด้านหลังใช้เสาไม้อันเดียวปักไว้มีป้ายติดข้อความว่า “ที่ส่วนตัวห้ามเดิน” และด้านข้างของที่ดินพิพาทด้านหนึ่งได้ปักป้ายมีข้อความว่า “ที่สงวนลิขสิทธิ์” ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.5 ถึง ล.12 เห็นว่า เมื่อนางสุภาพรใช้ไม้กั้นที่ดินพิพิพาทดังกล่าว ต่อมาได้มีผู้รื้อถอนไม้ที่ใช้กั้นในเดือนเดียวกันนั้น เมื่อไม้ที่ใช้กั้นที่ดินพิพาทถูกรื้อถอนออกไปแล้วโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และผู้ที่เคยใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกก็ยังคงใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกต่อมาอีก ดังนี้การกั้นรั้วไม้ในที่ดินพิพาทตามที่จำเลยนำสืบจึงไม่มีผลให้รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ที่ดินพิพาทโดยความไม่สงบหรือมิได้ใช้ติดต่อกันมาเกิน 10 ปี แต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าคำพยานโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานจำเลย น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกระหว่างถนนเศรษฐกิจ 1 กับที่ดินของโจทก์แต่ละคนเป็นเวลากว่า10 ปี โดยสงบเปิดเผย ทั้งตามพฤติการณ์ไม่อาจถือได้ว่า โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ใช้ที่ดินพิพาทโดยการถือวิสาสะที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401ประกอบด้วยมาตรา 1382 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ปัจจุบันโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6823 และเลขที่ 6824 โดยโอนขายให้บุคคลอื่นไปแล้วภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ที่ 2ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1387 บัญญัติว่า “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น” และในมาตรา1393 บัญญัติเป็นข้อความว่า ภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ แสดงว่าสิทธิการใช้ที่ดินพิพาทอันตกเป็นภาระจำยอมนี้กฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์หาได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะไม่ ทั้งตกติดไปยังผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสามยทรัพย์นั้นด้วย เมื่อปรากฏว่า ขณะที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกจากที่ดินของตนไปสู่ทางสาธารณะ แม้ต่อมาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จะได้โอนขายที่ดินของตนแก่บุคคลอื่น ก็หาทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในคดีนี้ระงับไปไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีก”
พิพากษายืน.