คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 68 วรรคแรก กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่ทรัพย์ที่จะขายตั้งอยู่ด้วย แต่ข้อกำหนดดังกล่าวก็เพื่อประสงค์ให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดเท่านั้นระเบียบดังกล่าวหาได้เป็นกฎหมายไม่ แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำประกาศขายทอดตลาดไปปิดไว้ที่อื่น ไม่ใช่ที่ที่ทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดตั้งอยู่ แต่ตามรายงานการขายทอดตลาดครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดีโจทก์รับว่าได้มอบอำนาจให้ผู้แทนโจทก์มาในวันขายทอดตลาดดังกล่าวและผู้แทนโจทก์ได้ลงชื่อรับทราบวันประกาศขายทอดตลาดที่เลื่อนไปในรายงานดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งวันขายทอดตลาดให้โจทก์ ซึ่งมีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์พิพาทที่จะขายทอดตลาดทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 306 แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 30778 พร้อมตึกสองชั้นซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ที่นำมาจดทะเบียนจำนองไว้ต่อโจทก์ และได้ประเมินราคารับจำนองไว้ 500,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับขายให้แก่บุคคลภายนอกไปราคา 235,000 บาท ซึ่งอย่างต่ำจะขายได้ 360,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามกฎหมายและวิธีปฎิบัติ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งยกเลิกการขาดทอดตลาด และให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่อีกครั้ง
ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดคัดค้านว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายและราคาเหมาะสมแล้ว โจทก์มายื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดล่วงเลยเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขอให้ยกคำร้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทชอบแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 68 วรรคแรก จะกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผยณ สถานที่ที่ทรัพย์ที่จะขายตั้งอยู่ด้วยก็ตาม แต่ข้อกำหนดดังกล่าวก็เพื่อประสงค์จะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดเท่านั้น แต่ระเบียบดังกล่าวก็หาได้เป็นกฎหมายไม่แม้คดีนี้จะได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีนำประกาศขายทอดตลาดไปปิดไว้ที่อื่น ไม่ใช่ที่ที่ทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดตั้งอยู่ก็ตาม แต่ตามรายงานการขายทอดตลาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2531 ของเจ้าพนักงานบังคับคดีเอกสารหมาย ค.2 ซึ่งโจทก์ก็รับว่าได้มอบอำนาจให้นายปรีชา ธัญญะ ประกอบ เป็นผู้แทนโจทก์มาวันขายทอดตลาดดังกล่าว และนายปรีชา ได้ลงชื่อรับทราบวันประกาศขายทอดตลาดที่เลื่อนไปเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2531 เวลา 10 นาฬิกา ในรายงานดังกล่าวแล้ว จึงถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งวันขายทอดตลาดให้โจทก์ ซึ่งมีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์พิพาทที่จะขายทอดตลาดทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 แล้วเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคา 235,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาประเมินและสูงกว่าราคาในการขาดทอดตลาดครั้งแรก โดยที่ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด จึงถือว่าการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 วรรคแรก
พิพากษายืน.

Share