แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กล่องสินค้าของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องสินค้าของโจทก์ทั้ง 6 ด้าน รูปร่างลักษณะของกล่องตลอดจนฝากล่องก็เหมือนกันสีสัน และลวดลายของภาพต่าง ๆ บนกล่องมีลักษณะคล้ายกันและอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็เท่ากัน ด้านหน้ากล่องของโจทก์ใช้คำว่า “น้ำมันมวย” ของจำเลยใช้คำว่า “น้ำมันกีฬา” ตัวหนังสือดังกล่าวต่างก็เป็นสีขาวและอยู่ในพื้นสีน้ำเงินเหมือนกัน ด้านหลังของกล่องมีอักษรโรมันของโจทก์ใช้คำว่า “BOXINGLINIMENT” ของจำเลยใช้คำว่า “SPORTSOIL” เป็นตัวสีขาวและอยู่ในกรอบสีน้ำเงินแบบเดียวกันมีขนาดเท่ากัน สีและลวดลายอื่น ๆ ของกล่องมีลักษณะคล้ายกันและมีขนาดเท่ากัน ฝากล่องด้านบนของโจทก์มีรูปดอกไม้และมีอักษรภาษาไทยคำว่า “ดอกไม้”ส่วนของจำเลยมีรูปสิงห์ 5 ตัวเหยียบอยู่บนลูกโลกและมีอักษรภาษาไทยคำว่า “ตราห้าสิงห์ เหยียบโลก” แม้จะมีลักษณะแตกต่างกันในส่วนนี้ แต่รูปและข้อความดังกล่าวมีลักษณะเล็กมากและอยู่ในรูปวงกลมล้อมรอบสามชั้นเหมือนกัน โดยเฉพาะวงกลมชั้นนอกเป็นวงกลมที่มีรอยหยัก ในลักษณะเหมือนกัน นับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์เครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนในประเทศไว้ตั้งแต่ปี 2498 ก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยประมาณ 30 ปี จึงเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 421.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า “น้ำมันมวย” รวมทั้งฉลาก กล่อง ลวดลาย และรูปรอยประดิษฐ์ที่ปรากฏอยู่บนกล่องดังกล่าว จำเลยได้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันสำหรับทาถูนวดแก้ปวดเมื่อยใช้ชื่อว่า “น้ำมันกีฬา” เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยลักษณะของกล่องสินค้า และฉลากสินค้าคล้ายของโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยผลิตและเลิกใช้ฉลากกล่องสินค้าและฉลากสินค้าของจำเลยซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายครั้ง จำเลยได้เปลี่ยนแปลงฉลากกล่องสินค้าของจำเลยใหม่ ขอบังคับให้จำเลยเลิกผลิตและใช้เครื่องหมายการค้าที่มีฉลากกล่องสินค้า”น้ำมันกีฬา” ทั้งสองรูปแบบรวมทั้งฉลากสินค้าซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและฉลากสินค้าของโจทก์ ห้ามจำเลยจำหน่ายสินค้าตามเครื่องหมายการค้าเลียนแบบนี้ต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าและไม่ได้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า “น้ำมันมวย” โจทก์ไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าว สินค้าของจำเลยรวมทั้งกล่องที่ใช้บรรจุสินค้าไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษร การวางตัวอักษร สีของกล่องสีของตัวอักษร ตลอดจนสำเนียงที่เรียกขานทั้งภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ รวมทั้งรูปและคำตลอดจนลักษณะเด่นที่ใช้กับสินค้าก็แตกต่างกัน ไม่ทำให้ประชาชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่ทำให้โจทก์เสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยผลิตและจำหน่ายสินค้า “น้ำมันกีฬา”ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งฉลากสินค้าและฉลากกล่องสินค้ามีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและฉลากสินค้า “น้ำมันมวย” ของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและใช้ค่าเสียหายเดือนละ10,000 บาท จากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะหยุดผลิตและจำหน่ายสินค้าน้ำมันกีฬาที่มีลักษณะคล้ายกับสินค้าน้ำมันมวยของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกการกระทำอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่า เครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏที่ฉลากกล่องกระดาษสำหรับใส่ขวดน้ำมันใช้ทาถูนวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเคล็ดขัดยอกช้ำตามร่างกาย ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 และ 8 ของจำเลยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏที่ฉลากกล่องกระดาษสำหรับใส่ขวดน้ำมันทาถูนวดชนิดเดียวกันตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 ของโจทก์ จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์เป็นเหตุให้โจกท์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนำฉลากกล่องกระดาษของจำเลยตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลย 7 และ 8 มาเปรียบเทียบกับฉลากกล่องกระดาษของโจทก์ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6แล้ว จะเห็นได้ว่ากล่องของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องของโจทก์ทั้ง6 ด้าน รูปร่างลักษณะของกล่องตลอดจนฝากล่องก็เหมือนกัน สีสันและลวดลายของภาพต่าง ๆ บนกล่องมีลักษณะคล้ายกันและอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็เท่ากันนอกจากนี้ด้านหน้าของกล่องมีตัวอักษรที่เด่นชัดเหมือนกันคือคำว่า”น้ำมัน” แม้จะมีตัวอักษรที่ต่างกันคือ ของโจทก์ใช้คำว่า “มวย”ของจำเลยใช้คำว่า “กีฬา” กล่าวคือรวมแล้วของโจทก์ใช้คำว่า”น้ำมันมวย” ของจำเลยใช้คำว่า “น้ำมันกีฬา” แต่ตัวหนังสือดังกล่าวต่างก็เป็นตัวสีขาว และอยู่ในพื้นที่สีน้ำเงินเหมือนกัน โดยเฉพาะกล่องของจำเลยตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 7 อยู่ในกรอบแบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากับกล่องของโจทก์ด้วย สำหรับด้านหลังของกล่องซึ่งมีอักษรโรมันนั้น แม้จะมีคำต่างกัน กล่าวคือของโจทก์ใช้คำว่า”BOXING LINIMENT” ของจำเลยใช้คำว่า “SPORTS OIL” ก็ตาม แต่คำทั้งสองเป็นตัวสีขาวและอยู่ในกรอบสีน้ำเงินแบบเดียวกันและมีขนาดเท่ากันสีและลวดลายอื่น ๆ ของกล่องมีลักษณะคล้ายกันและมีขนาดเท่ากันสำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เลย ที่จำเลยฎีกาว่า ฝากล่องกระดาษเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 ด้านบนมีรูปดอกไม้และมีอักษรภาษาไทยคำว่า “ดอกไม้” ส่วนฝากล่องกระดาษเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3 ด้านบนมีรูปสิงห์ 5 ตัวเหยียบอยู่บนลูกโลกและมีอักษรภาษาไทยคำว่า “ตราห้าสิงห์เหยียบโลก”เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจึงมีลักษณะแตกต่างกันนั้นเห็นว่า รูปและข้อความดังกล่าวมีลักษณะเล็กมาก แม้แต่นายเจริญสุขกิจอิทธิ กรรมการของจำเลยก็ยอมรับว่าถ้ามองในระยะห่าง 1 เมตรจะอ่านตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยดังกล่าวไม่ออกอย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ารูปและอักษรดังกล่าวอยู่ในรูปวงกลมล้อมรอบสามชั้นเหมือนกัน โดยเฉพาะวงกลมชั้นนอกเป็นวงกลมที่มีรอยหยักในลักษณะที่เหมือนกันด้วย ที่จำเลยฎีกาว่า บนกล่องเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาพนักมวยกำลังชกต่อยกันแต่ของจำเลยไม่มีนั้น ก็เห็นว่าภาพดังกล่าวที่ปรากฏบนกล่องของโจทก์ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6นั้นเป็นเพียงภาพเงาและไม่เด่นชัด ไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยแตกต่างกัน ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่เห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่กล่องกระดาษตามเอกสารคำฟ้องหมายเลข 7 และ 8 ของจำเลย มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่กล่องกระดาษตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 6 ของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนในประเทศไว้ตั้งแต่ปี 2498 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยตั้งแต่ปี 2527 ประมาณถึง 30 ปีจึงเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้…”
พิพากษายืน.