คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 903/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานในการขายฝากที่ดินหาใช่เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินไม่ ฉะนั้นจำเลยจะอ้างว่าสัญญาขายฝากที่ดินที่พิพาทซึ่งจำเลยทำไว้กับโจทก์เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 ไม่ได้ ในเมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมอันเป็นนิติกรรมที่แท้จริงมาแสดงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยทำสัญญาขายฝากอำพรางการกู้ยืมเงินกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินรวม 3 โฉนด ให้แก่โจทก์เมื่อครบกำหนดเวลาไถ่ จำเลยมิได้ทำการไถ่และไม่ยอมออกจากที่ดินที่ขายฝาก ขอบังคับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินดังกล่าวและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินตามฟ้องจริงโดยโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าทำสัญญาขายฝากไว้เป็นหลักฐานการเป็นหนี้เท่านั้น แต่ขอให้ส่งดอกเบี้ยทุกปี หลังจากทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยยังคงครอบครองที่ดินโดยโจทก์ไม่คิดค่าเช่าแต่อย่างใด ก่อนครบกำหนดเวลาไถ่จำเลยได้ติดต่อขอไถ่คืนกับโจทก์หลายครั้งแต่โจทก์ผัดผ่อนและประวิงเวลาเรื่อยมาจนพ้นกำหนดเวลาไถ่ โจทก์จะเอาที่ดินเป็นของโจทก์ จำเลยไม่ยินยอมและครองครองที่ดินที่ขายฝากตลอดมาจำเลยมีความประสงค์ที่จะไถ่ที่ดินคืนจากโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดคดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง และให้จำเลยไถ่ทรัพย์คืนจากโจทก์หากโจทก์ไม่ยินยอมขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13271, 13272 และ 20164 ตำบลท่าโพ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และห้ามเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่จำเลบยและโจทก์นำสืบรับกันมาฟังได้เบื้องต้นว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้โจทก์ไว้ในราคา 139,600บาท มีกำหนดเวลา 1 ปี ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 และโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4, จ.5 และ จ.6 ตั้งแต่ทำสัญญาขายฝากแล้ว จำเลยได้ครอบครองทำกินในที่ดินที่ขายฝากตลอดมา จนพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาจำเลยมิได้ไถ่คืน ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยได้ขอไถ่ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงคืนอจากดจทก์ภายในกำหนด 1 ปี ตามสัญญาขายฝากแล้วหรือไม่…จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้สิทธิขอไถ่คืนที่ดินพิพาทแล้ว สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยใช้นิติกรรมการขายฝากซึ่งอำพรางนิติกรรมกู้งเงินตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้นั้น เห็นว่าจำเลยได้ให้การไว้ แม้จะไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้โดยตรงก็ตาม แต่จำเลยได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกู้เงินโดยโจทก์ยึดที่ดินพิพาทไว้เป็นหลักประกันจึงควรวินิจฉัยให้ในชั้นนี้ แต่จำเลยได้นำสืบไว้แต่เพียงว่าจำเลยได้ไปบอกให้โจทก์ทราบว่านายอภิรักษ์ตกลงซื้อที่ดินโดยให้ราคาไร่ละ20,000 บาท โจทก์บอกว่ายังไม่ขายเพราะราคาถูกไปจึงให้เอาที่ดินไว้กับโจทก์ โดยโจทก์จะไม่ยึดที่ดินที่ขายฝากเท่านั้น โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันให้เห็นว่าความจริงจำเลยได้กู้เงินโจทก์แล้วมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ยึดไว้เป็นหลักประกัน แต่ได้ทำหลักฐานไว้เป็นสัญญาขายฝากอันเป็นการทำนิติกรรมอำพราง ทั้งพยานของจำเลยที่นำสืบมาก็ฟังไม่ได้แล้วว่านายอภิรักษ์ได้มาขอและตกลงซื้อที่ดินจากจำเลยดังที่จำเลยอ้าง การที่จะฟังว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินได้นั้น สิ่งสำคัญจะต้องปรากฏว่าจำเลยกับโจทก์ได้ทำหลักฐาต่อกันไว้ว่า ได้มีการทำสัญญากู้เงินกันจริง แล้วจึงทำสัญญาขายฝากเป็นการอำพรางไว้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือสัญญาขายฝากเป็นหลักฐานแห่งการกู้เงินได้นั้นเห็นว่า หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานในการขายฝากที่ดิน หาใช่เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินไม่ฉะนั้นจำเลยจะอ้างว่าสัญญาขายฝากที่ทำไว้กับโจทก์เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 ไม่ได้ ในเมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมอันเป็นนิติกรรมที่แท้จริงมาแสดงแล้ว ข้ออ้างของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้…”
พิพากษายืน.

Share