แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 115 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอเพิกถอนการโอนทรัพย์ในกรณีที่จำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น มีความหมายว่า การโอนทรัพย์นั้นต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว และทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยเสียเปรียบแต่กรณีการโอนตามสัญญาต่างตอบแทนซึ่งผู้รับโอนมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อน หากจะถือว่าการโอนของจำเลยเป็นการให้เปรียบแก่ผู้รับโอนเหนือเจ้าหนี้ที่มีอยู่แล้ว ย่อมจะทำให้ผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนไม่รู้ถึงสภาพการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยต้องเสียหาย ไม่เป็นธรรมต่อผู้รับโอน วัตถุประสงค์ของมาตรา 114และ 115 ยังคงคุ้มครองผู้สุจริตและมีค่าตอบแทนเช่นเดียวกันต่างกันเพียงว่าถ้า โอนภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและจำเลยมุ่งให้เจ้าหนี้เดิม คนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นอาศัยเพียงความมุ่งหมายของจำเลยฝ่ายเดียวเป็นการพอเพียงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิกถอนเสียได้ แต่ถ้า เป็นการโอนไปภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยโอนไปยังผู้รับโอนซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้อยู่เดิม ต้องอาศัยความไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนของผู้รับโอนด้วยจึงเพิกถอนได้ตามมาตรา 114 เช่นกันจะใช้มาตรา 115 มาเพิกถอนการโอนแก่ผู้รับโอนซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อนแล้วไม่ได้ พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 113 เป็นเรื่องลูกหนี้ทำให้ทรัพย์สินของตนลดลงเพื่อให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ โดยผู้รับโอนไม่จำต้องเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ผู้โอนมาก่อน แต่การจะเพิกถอนได้ต้องปรากฏว่าในขณะทำการโอนนั้นผู้รับโอนได้รู้เท่าถึงการกระทำของลูกหนี้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบด้วย.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิกถอนการขายฝาก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งไม่เพิกถอน โจทก์จึงขอให้กลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเพิกถอนการขายฝากรายนี้
ศาลชั้นต้นนัดพร้อม ถึงวันนัดโจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงรับข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการขอเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกให้ชำระหนี้ต่อศาลชั้นต้น แล้วโจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมชำระเงิน 1,087,219 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5381/2529ของศาลชั้นต้น จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีแต่จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ก่อนครบกำหนดชำระหนี้หนึ่งวันในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยได้ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 17884 และ 24862 ตำบลบางยี่ขัน (บ้านปูน)อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร รวมเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 87 ตารางวาพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 8/42 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้แก่นายชาย เดชเกรียงไกรกูล ในวันที่ 25 มีนาคม 2529โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2529 และวันที่ 18 มิถุนายน 2529มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ในวันที่ 16 เมษายน 2529โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิกถอนการโอนขายฝากรายนี้ ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนผู้รับโอนได้ความว่า ผู้รับโอนมีอาชีพทำธุรกิจที่ดินและหมู่บ้านจัดสรรเกี่ยวกับที่ดินพร้อมบ้านพิพาทผู้รับโอนซื้อจากจำเลยในราคา3,600,000 บาท ได้ทำสัญญาขายฝากกันมีกำหนดไถ่ถอนคืน 1 ปี และได้ชำระราคาแล้ว ผู้รับโอนไม่ทราบสาเหตุที่จำเลยขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาท หลังจากรับโอนมาแล้วผู้รับโอนไม่เคยพบจำเลยอีก สอบสวนโจทก์ได้ความว่า จำเลยได้ขายฝากที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่ผู้รับโอนแล้วจำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาจากทะเบียนบ้านเลขที่ 8/42 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบ้านยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ไปเข้าที่บ้านเลขที่ 116 หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งคลี่ อำเภอเดิมบางนางบวชจังหวัดสุพรรณบุรี แต่จำเลยมิได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่ภูมิลำเนาดังกล่าวส่วนจำเลยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจเรียกมาสอบสวนได้ เพราะหลบหนี จึงงดการสอบสวน
พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งไม่เพิกถอนการโอนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาประการแรกคือ พฤติการณ์ที่จำเลยโอนขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทให้ผู้รับโอนนั้น จะเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 115 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอเพิกถอนในกรณีที่จำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นมีความหมายว่า การโอนทรัพย์นั้นต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้ว และการโอนเช่นนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยเสียเปรียบ เนื่องจากบรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นต่างก็จะไม่ได้รับชำระหนี้หรือไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนจากจำเลย เพราะสภาพการมีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งบรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นได้รับความเสียหายอยู่ก่อนแล้ว จากการที่ลูกหนี้มีทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สินซึ่งจะทำให้บรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นจะได้รับชำระหนี้เพียงส่วนเฉลี่ยในทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น ฉะนั้นเมื่อจำเลยนำทรัพย์สินเท่าที่มีไปชำระให้เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะ จึงเป็นการให้เปรียบแก่เจ้าหนี้คนนั้นและทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเพราะได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้โดยเฉลี่ยจากทรัพย์สินที่โอนไป กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ด้วยกันซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนมิให้ได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน และให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆซึ่งเป็นการให้เปรียบเช่นนี้ได้ แต่กรณีการโอนตามสัญญาต่างตอบแทนในคดีนี้ ผู้รับโอนมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อน ไม่มีปัญหาเรื่องผู้รับโอนจะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นหรือไม่ ผู้รับโอนเข้ามาทำสัญญากับจำเลยโดยไม่ทราบความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลย หากจะถือว่าการโอนของจำเลยเป็นการให้เปรียบแก่ผู้รับโอนเหนือเจ้าหนี้ที่มีอยู่แล้ว ย่อมจะทำให้ผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนไม่รู้ถึงสภาพการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยต้องเสียหาย ไม่เป็นธรรมต่อผู้รับโอน จึงเห็นว่ากรณีนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ประสงค์จะคุ้มครองผู้สุจริตและต้องเสียค่าตอบแทน และเห็นว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และ 115 ยังคงคุ้มครองผู้ทุจริตและมีค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงว่าถ้าโอนภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย และจำเลยมุ่งให้เจ้าหนี้เดิมคนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นแล้วอาศัยเพียงความมุ่งหมายของจำเลยฝ่ายเดียวเป็นพอเพียงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิกถอนเสียได้โดยไม่ต้องให้เจ้าหนี้เดิมพิสูจน์ว่าตนสุจริตและมีค่าตอบแทนเพราะเจ้าหนี้เช่นนี้รู้หรือควรจะรู้อยู่แล้วถึงสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลย เจ้าหนี้เดิมที่รับโอนเช่นนี้จึงไม่ควรได้เปรียบเหนือเจ้าหนี้อื่น แต่ถ้าเป็นการโอนไปภายในสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยโอนไปยังผู้รับโอนซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้อยู่เดิมและโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนแล้ว ก็ยังคงเพิกถอนเสียได้ตามมาตรา 114 เช่นเดิม ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 115ตรงกันข้าม ถ้าผู้รับโอนเช่นนี้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจะนำมาตรา 115 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะมิได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันมาก่อนประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งจะถือว่าผู้รับโอนได้เปรียบเหนือเจ้าหนี้อื่นไม่ได้ ฉะนั้นจึงใช้มาตรา 115 มาเพิกถอนการโอนแก่ผู้รับโอนซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อนแล้วไม่ได้ปัญหาต่อไปมีว่าผู้รับโอนรายนี้ได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ได้ความจากทางสอบสวนผู้รับโอนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า ผู้รับโอนรับซื้อฝากไว้จากจำเลยโดยมิได้รู้จักจำเลยมาก่อนแต่มีการติดต่อผ่านนายหน้าเมื่อตรวจสอบทางทะเบียนแล้ว ปรากฏเพียงว่าที่ดินและบ้านพิพาทติดจำนองธนาคารอยู่เท่านั้น ผู้รับโอนไม่ทราบว่าจำเลยมีเจ้าหนี้รายอื่นใดอีกและไม่ทราบว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ในคดีแพ่งและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ไว้ ผู้รับโอนได้ชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารและชำระค่าที่ดินและบ้านพิพาทแก่จำเลยตามราคาที่สมควร ปรากฏรายละเอียดตามความเห็นเรื่องเพิกถอนการโอนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้รับโอนรับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจึงไม่อาจเพิกถอนการขายฝากรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114 ปัญหาต่อไปมีว่าเมื่อไม่เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันมาก่อนแต่การโอนบ้านและที่ดินของจำเลยให้ผู้ร้องโอนก่อนถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพียงวันเดียว จะเป็นทางให้เจ้าหนี้คือโจทก์เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ให้เพิกถอนเสียได้หรือไม่ เห็นว่ากรณีตามมาตรา 113 เป็นเรื่องลูกหนี้ทำให้ทรัพย์สินของตนลดลงเพื่อให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ โดยผู้รับโอนไม่จำต้องเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ผู้โอนมาก่อน แต่การจะเพิกถอนได้ต้องปรากฏว่ในขณะทำการโอนนั้นผู้รับโอนได้รู้เท่าถึงการกระทำของลูกหนี้ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบด้วย ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 แต่จำเลยโอนบ้านและที่ดินให้ผู้รับโอนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 โดยไม่มีทรัพย์สินอื่นจะชำระหนี้ได้ จึงเป็นการกระทำลงโดยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ที่แสดงว่า ผู้รับโอนรายนี้ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงว่าทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบด้วย จึงถือว่าผู้รับโอนที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาขายฝากโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจึงไม่อาจเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ได้เช่นเดียวกัน…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น.