คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ล้มละลายฯมาตรา 115 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอเพิกถอนการโอนได้ในกรณีที่จำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นนั้น มีความหมายว่าการโอนทรัพย์สินต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้วและการโอนเช่นนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ของจำเลยเสียเปรียบ เนื่องจากบรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นต่างก็จะไม่ได้รับชำระหนี้หรือไม่ได้รับชำระหนี้เต็ม จำนวนจากจำเลยเพราะสภาพการมีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งบรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นได้รับความเสียหายอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยนำทรัพย์สินเท่าที่มีไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะ จึงเป็นการให้เปรียบเทียบแก่เจ้าหนี้คนนั้นและทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ เพราะได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้โดยเฉลี่ยจากทรัพย์ที่โอนไปกฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนมิให้ได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน เมื่อผู้รับโอนมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อน จึงไม่มีกรณีที่เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นแต่อย่างใด จะนำมาตรานี้มาเพิกถอนการโอนรายนี้ไม่ได้และเมื่อผู้รับโอนได้รับโอนมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่อาจเพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 114 ได้เช่นกัน.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2528 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้พิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายศาลได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 11 เมษายน2529 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 13 มกราคม2530 ทางสอบสวนของผู้ร้องปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4899 แขวงวังบูรพาภิรมย์ (พาหุรัด) เขตพระนคร(ในพระนคร) กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถวเลขที่ 24/1 บนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม 2528 ซึ่งอยู่ในระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยได้โอนขายที่ดินและตึกแถวดังกล่าวให้ผู้คัดค้านทั้งสามในราคา 300,000 บาท ในขณะที่โอนจำเลยมีหน้าที่รายอื่นอีกหลายรายเป็นการโอนขายโดยผู้คัดค้านทั้งสามไม่สุจริตทั้งเป็นการทำให้ผู้คัดค้านทั้งสามได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นอาศัยอำนาจตามมาตรา 114, 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและตึกแถวดังกล่าวระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสาม และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสามซื้อที่ดินและตึกแถวดังกล่าวมาจากจำเลยโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวผู้คัดค้านทั้งสามไม่ได้เป็นเจ้าหนี้จำเลยจึงไม่ทำให้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ขอให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสามและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่12 กรกฏาคม 2528 จำเลยได้จดทะเบียนโดนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4899ตำบลวังบูรพาภิรมย์ (พาหุรัด) อำเภอพระนคร (ในพระนคร) กรุงเทพมหานครและตึกแถวเลขที่ 24/1 บนที่ดินดังกล่าวให้ผู้คัดค้านทั้งสามในราคา300,000 บาท โดยได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินในวันเดียวกันปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ร.1 และภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.2ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2528 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2529 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านทั้งสามหรือไม่ ปัญหาประการแรกคือพฤติการณ์ที่จำเลยโอนขายที่ดิน และตึกแถวพิพาทให้ผู้คัดค้านทั้งสามนั้น จะเพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ได้หรือไม่ เห็นว่า บทบาทดังกล่าวบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอเพิกถอนการโอนได้ในกรณีที่จำเลยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นมีความหมายว่าการโอนทรัพย์นั้นต้องเป็นการโอนให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้วและการโอนเช่นนั้นทำให้เจ้าหนี้อื่น ๆของจำเลยเสียเปรียบ เนื่องจากบรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นต่างก็จะไม่ได้รับชำระหนี้หรือไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนจากจำเลย เพราะสภาพการมีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งบรรดาเจ้าหนี้เหล่านั้นได้รับความเสียหายอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น เมื่อจำเลยนำทรัพย์สินเท่าที่มีไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะจึงเป็นการให้เปรียบแก่ เจ้าหนี้คนนั้นและทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ เพราะได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีโอกาสได้รับชำระหนี้โดยเฉลี่ยจากทรัพย์ที่โอนไปกฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนมิให้ได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นการให้เปรียบเช่นนี้ได้ แต่กรณีการโอนตามสัญญาต่างตอบแทนในคดีนี้ ผู้คัดค้านทั้งสามมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อน จึงไม่มีกรณีที่ผู้คัดค้านทั้งสามจะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงนำพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 มาเพิกถอนการโอนแก่ผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยมาก่อนแล้วไม่ได้ ปัญหาต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านทั้งสามได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน อันเข้าข้อยกเว้นไม่เพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 หรือไม่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบว่ามารดาของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งเป็นผู้ติดต่อและออกเงินซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทและผู้คัดค้านทั้งสามไม่เคยรู้จักจำเลย มารดาผู้คัดค้านทั้งสามทราบจากญาติว่าจำเลยจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาท จึงได้ตกลงซื้อขายในราคา 350,000บาท แต่จะจดทะเบียนซื้อขายเพียง 300,000 บาท เพื่อเสียค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์น้อยลง ปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ค.1 ภายถ่ายใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ค.3 และภาพถ่ายใบสั่งเงินค่าธรรมเนียมที่ดิน เอกสารหมาย ค.4 ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดิน 339,800 บาท ก่อนซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทผู้คัดค้านทั้งสามและมารดาไม่ทราบว่าจำเลยเป็นหนี้ผู้อื่นถ้าทราบจะไม่ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาท ส่วนผู้ร้องนำสืบว่า โจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อผู้ร้องว่า จำเลยได้โอนที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามเมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม 2528 ขอให้ผู้ร้องดำเนินการสอบสวนการโอนรายนี้ ผู้ร้องจึงได้หมายนัดผู้คัดค้านทั้งสามมาทำการสอบสวน แต่ผู้คัดค้านทั้งสามไม่มาตามหมายนัดผู้ร้องจึงมีคำสั่งให้ดำเนินการเพิกถอนผู้ร้องจึงมีคำสั่งให้ดำเนินการเพิกถอนการโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยถือว่าผู้คัดค้านทั้งสามไม่มีพนายหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าได้รับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ภายในช่วงระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา114 เห็นว่า ผู้คัดค้านทั้งสามและพยานผู้คัดค้านทั้งสามเบิกความสอดคล้องต้องกันทั้งมีพยานเอกสารมาสืบสนับสนุนข้ออ้างพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสามจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งรับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทในราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคาในท้องตลาดอันพอถือได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสามได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าผู้คัดค้านทั้งสามรับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนไม่อาจเพิกถอนการโอนรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการโอนรายนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง.

Share