คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายมิใช่ ความผิด ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้รื้อถอนได้เสมอตราบที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคาร (รั้ว) ซึ่งจำเลยสร้างลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 4677 และ 52032 ตำบลบางหว้า อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครซึ่งสร้างฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 72 การฝ่าฝืนของจำเลยดังกล่าวไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง ตามข้อบัญญัติดังกล่าว ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้โจทก์รื้อถอนได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40, 41, 42 โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยก่อสร้างรั้วทุกด้านเสร็จตั้งแต่ปี 2521 จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 คดีของโจทก์ขาดอายุความ เมื่อปี 2525จำเลยได้ต่อเติมรั้วด้านทิศใต้เพื่อสร้างคอร์ดแบดมินตัน โดยต่อเติมรั้วจากเดิม2.10 เมตร เป็น 4 เมตร เขตภาษีเจริญมีคำสั่งให้จำเลยระงับการต่อเติมและดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาต่อเติมรั้วด้านทิศใต้โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นรั้วคนละด้านกับรั้วพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วพิพาทออกไป ถ้าจำเลยไม่รื้อให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ก่อสร้างอาคาร (รั้ว) พิพาท ริมซอยแสงหิรัญอันเป็นทางสาธารณะที่มีความกว้างไม่ถึง 6 เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่ร่นแนวรั้วให้ห่างจากศูนย์กลางซอยอย่างน้อย 3 เมตร จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 72 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 21 และเป็นการฝ่าฝืนที่ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ตามมาตรา 42 จำเลยจึงต้องรื้อถอนอาคาร (รั้ว) ดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีละเมิด โจทก์ฟ้องเมื่อเกินกำหนด 1 ปีแล้วนั้น เห็นว่าความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มิใช่ความผิดฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากแต่เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้รื้อถอนได้เสมอตราบที่อาคารซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่
พิพากษายืน

Share