คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำนาตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 แม้ทำสัญญาเช่าก่อนพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 ใช้บังคับ เมื่อพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วยังมีบทบัญญัติว่าการเช่านารายใดอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ต่อไป ดังนั้น การเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดการเช่าจะต้องทำเป็นหนังสือต่อหน้านายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมายตามมาตรา 30(3) แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาเลิกเช่าที่นากันโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือต่อหน้านายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมายสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นการเลิกสัญญาเช่าโดยชอบด้วยกฎหมายปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 546, 2551 และ 545 แขวงบางชัน เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร วันที่ 6 มกราคม 2523 จำเลยได้เช่าที่ดินโจทก์มีกำหนด3 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยขออาศัยอยู่ ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม2529 จำเลยสัญญาว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินและชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมจำเลยทำสัญญาให้ความยินยอมให้ผู้ให้เช่าเลิกสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2551 เพียงแปลงเดียวจำเลยยังคงทำนาตลอดมา และยังไม่ครบกำหนดเวลาเช่าตามกฎหมายว่าด้วยการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์เลิกเช่าโดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท กับให้ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่พิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเช่าที่ดินโจทก์เพื่อทำนา ย่อมอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 แม้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 แล้ว แต่มาตรา 66 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติว่า”การเช่านารายใดอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นเป็นการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ต่อไป” การเช่านารายนี้จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า สัญญาเช่าจะมีอายุเพียง 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2523 ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 มาตรา 5 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติว่า”การเช่านาให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่า 6 ปี การเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลาหรือมีแต่ต่ำกว่า 6 ปี ให้ถือว่าการเช่ารายนั้นมีกำหนดเวลา6 ปี” การเช่ารายนี้จึงมีกำหนดการเช่า 6 ปี ซึ่งย่อมครบกำหนดในวันที่ 6 มกราคม 2529 อันเป็นเวลาที่พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ใช้บังคับแล้ว การบอกเลิก การเช่าหรือการสิ้นสุดของการเช่าจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เมื่อโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้และจำเลยยังคงทำนาอยู่จึงต้องถือว่าการเช่านาพิพาทมีตอ่ ไปอีกคราวละ 6 ปีตามบทบัญญัติมาตรา 62 วรรคสอง การเช่านาอาจสิ้นสุดก่อนกำหนดระยะเวลาเช่า โดยผู้เช่านาและผู้ให้เช่านาตกลงเลิกการเช่าต่อกันจะต้องทำเป็นหนังสือต่อหน้านายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 30(3) แต่ตามหนังสือตกลงการเลิกสัญญาเช่านาที่จำเลยทำให้โจทก์ไว้นั้นไม่ได้กระทำต่อหน้านายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย หนังสือดังกล่าวจึงไม่มีผลเป็นการเลิกสัญญาเช่านาโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อกฎหมายดังกล่าวนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเนื่องจากพระราชบัญญัตินี้ประสงค์จะคุ้มครองเกษตรกรผู้ทำนา จึงได้บัญญัติให้การตกลงต่าง ๆ จะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ที่กำหนด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share