แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ข้อ 76 กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนใช้บังคับ หากในวันดังกล่าวไม่มีการซื้อขายที่ดินบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืน โจทก์ก็นำสืบถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับมาเป็นเกณฑ์พิจารณาได้ จะอาศัยราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์กำหนดหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด แม้จะยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนใช้บังคับโดยเฉพาะ แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้นนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 14660 และเลขที่ 287 แขวงบางปะกอก เขตราษฎรณ์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ติดต่อกัน รวมเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา ใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่น จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์สร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ เกี่ยวกับทางพิเศษ และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎรณ์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ.2525 เพื่อสร้างพิเศษสายดาวคะนอง – ท่าเรือ จำเลยได้ทำการสำรวจแนวเขตที่ดินที่จะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 612 ตารางวาในการกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ จำเลยได้ถือเอาราคาตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดขึ้นกว้าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งแขวงบางปะกอก โดยมิได้กำหนดค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนเป็นเงิน1,836,000 บาท โจทก์ได้รับค่าทดแทนมาแล้วเป็นเงิน 522,450 บาทคงเหลือค่าทดแทนอีก 1,313,550 บาท โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับจนถึงวันฟ้อง แต่โจทก์ขอคิดเพียง 3 ปี เป็นเงิน 295,548.75 บาทและเนื่องจากที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือถูกปิดกั้นโดยสิ้นเชิง ทำให้ลดน้อยถอยราคาลง โจทก์ขอคิดค่าลดน้อยถอยราคาของที่ดินส่วนที่เหลือเป็นเงิน 401,650 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,609,098.75บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน1,313,550 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนลดน้อยถอยราคาลงเป็นเงิน401,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน522,450 บาทนั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จำเลยคิดค่าทดแทนให้ตามที่คณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งเป็นผู้กำหนดตามราคาท้องตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเขตท้องที่แขวงบางปะกอก เขตราษฏร์บูรณะโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิ่มค่าทดแทน แม้ภายหลังที่ถูกเวนคืนแล้วที่ดินของโจทก์จะมีทางเข้าออกซอยสุขสวัสดิ์ 26 เพียง 10 เมตร โจทก์ก็ยังใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เช่นเดียวกับก่อนถูกเวนคืน การเวนคืนที่ดินพิพาทจำเลยทำไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าที่ดินของโจทก์ที่ต้องลดน้อยถอยราคาลง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย และขณะนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ใช้บังคับจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 405,200 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2พฤษภาคม 2525 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน622,550 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าการจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน มิใช่ค่าทดแทนค่าเสียหายตามความเป็นจริงโดยสิ้นเชิงแต่เป็นค่าทดแทนให้โดยคำนึงถึงความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมเท่านั้น ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์จึงเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ หากในวันดังกล่าวไม่มีการซื้อขายที่ดินบริเวณดังกล่าว โจทก์ก็นำสืบถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับมาเป็นเกณฑ์พิจารณาได้จะอาศัยราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์กำหนดหาได้ไม่เพราะไม่ใช่ราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับดอกเบี้ย จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ใช้บังคับเห็นว่า แม้จะยังไม่มีพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ข้อ 67 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ
สำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์คำนวณค่าทดแทนให้โจทก์ไม่ถูกต้องนั้นศาลฎีกาคำนวณค่าทดแทนเสียใหม่ให้ถูกต้องรวมเป็นเงิน1,195,000 บาท โจทก์รับค่าทดแทนไปแล้ว 522,450 บาท เหลือค่าทดแทน672,550 บาท รวมกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนแต่ลดน้อยถอยราคาลงอีก 50,000 บาท เป็นค่าทดแทนที่จำเลยต้องจ่ายเพิ่มรวมทั้งสิ้น 722,550 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 722,550 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยจะเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 672,550 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.