คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเอง คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 บุกรุกที่ดินตาม น.ส.3 ของโจทก์และได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในชั้นพนักงานสอบสวนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขอให้ขับไล่และใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ภายหลังเวลา 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ทั้งนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงยอมความไว้กับโจทก์แล้วไม่ปฏิบัติตามยอมโดยไม่ยอมออกไปจากที่ดินของโจทก์ขอให้ขับไล่ออกไป ดังนี้ ประเด็นตามฟ้องในคดีหลังจึงมีว่าข้อตกลงยอมความกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ให้สิทธิโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1ออกจากที่ดินของโจทก์ได้หรือไม่ จึงเห็นได้ว่าประเด็นที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเหตุยกฟ้องในคดีก่อนกับที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นประเด็นให้วินิจฉัยในคดีหลังนี้แตกต่างกัน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นการขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการขอบังคับผู้อาศัยให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 เข้ามาอาศัยอยู่ ฟ้องของโจทก์ทั้งที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2จึงมิใช่กรณีถูกแย่งการครอบครองแล้วฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง ที่บังคับให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 180,181 ตำบลบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519 จำเลยทั้งสองกับนายบุญช่วย เกาะแก้ว ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาฐานบุกรุก คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และรับว่าจะออกจากที่ดินของโจทก์ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดเงื่อนไขโดยไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ตามที่ยอมความไว้ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก และผู้ดูแลที่ดินของโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าไปทำกินในที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดอาญา โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออก ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่เคยอาศัยสิทธิของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำ และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองภายหลัง 1 ปี นับแต่รู้ว่าถูกแย่งการครอบครอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีภายหลังเวลา1 ปี นับแต่รู้ว่าถูกแย่งการครอบครอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โดยที่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 มาแล้ว ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 580/2526 ของศาลชั้นต้น จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ปัญหาข้อนี้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในชั้นฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเอง ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 580/2526 ของศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกไถที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วของโจทก์และได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ในชั้นพนักงานสอบสวนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมออกไปจากที่ดินนั้น จึงขอให้ขับไล่และใช้ค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ภายหลังเวลา 1 ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ทั้งนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใดส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหนึ่งคนได้บุกรุกที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วของโจทก์ และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ 1 ยอมออกไปจากที่ดินของโจทก์หลังจากเก็บมันสำปะหลังที่ปลูกไว้เสร็จแล้ว และว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 644/2522 ของศาลชั้นต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกเพราะมีสิทธิอยู่ในที่ดินของโจทก์ตามที่ตกลงยอมความกับโจทก์ไว้ แต่จำเลยที่ 1 ตกลงจะออกไปจากที่ดินของโจทก์หลังจากเก็บมันสำปะหลังที่ปลูกไว้เสร็จแล้ว ส่วนการที่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น อยู่ในที่ดินของโจทก์ได้โดยอาศัยสิทธิของนายพรหมาผู้ดูแลที่ดินของโจทก์ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์และโจทก์ได้แจ้งให้ออกไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสอง ดังนี้เห็นว่าในคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 580/2526 นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองเกิน 1 ปีเป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 หาได้วินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่โดยยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงยอมความไว้กับโจทก์แล้วไม่ปฏิบัติตามยอมโดยไม่ยอมออกไปจากที่ดินของโจทก์ขอให้ขับไล่ออกไป ดังนี้ประเด็นตามฟ้องในคดีหลังจึงมีว่าข้อตกลงยอมความกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วนั้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ให้สิทธิโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินของโจทก์ได้หรือไม่ จึงเห็นได้ว่าประเด็นที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเป็นเหตุยกฟ้องในคดีก่อนกับที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นประเด็นให้วินิจฉัยในคดีหลังนี้แตกต่างกัน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ อันจะถือว่าเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า เดิมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2519 จำเลยทั้งสองกับนายบุญช่วย เกาะแก้ว ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และได้ถูกพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีฟ้องเป็นคดีอาญาฐานบุกรุก โดยโจทก์เป็นผู้เสียหาย ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 644/2522 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงยอมความกับโจทก์รับว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์หลังจากเก็บมันสำปะหลังที่ปลูกไว้เสร็จแล้ว นายบุญช่วยไม่ได้ร่วมกระทำผิด ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นนายพรหมาผู้ดูแลที่ดินของโจทก์อนุญาตให้เข้าไปทำกินในที่ดินนั้นได้ จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดทางอาญา ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมออกโจทก์จึงบอกกล่าวให้ออกและฟ้องคดีนี้ ดังนี้ เห็นว่า จำเลยที่ 1ได้ตกลงยอมความกับโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นคดีอาญาและเพื่อให้โจทก์ได้ที่ดินคืนหลังจากจำเลยที่ 1 เก็บมันสำปะหลังไว้เสร็จแล้วข้อตกลงยอมความกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่บังคับกันได้ ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการขอบังคับผู้อาศัยให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 เข้ามาอาศัยอยู่ ฟ้องของโจทก์ทั้งที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่กรณีถูกแย่งการครอบครองแล้วฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375วรรคสอง ที่บังคับให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำก็ดี ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องแย่งการครอบครองก็ดี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินของโจทก์บริเวณที่จำเลยแต่ละคนครอบครองอยู่ตามแผนที่พิพาทเอกสารอันดับที่23 ในสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share