คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่เกิดเหตุเป็นห้องตัดผม ซึ่งมีผู้คนเข้าออกวันหนึ่ง ๆเป็นจำนวนหลายคน ลิ้นชักที่พยานโจทก์พบเฮโรอีนก็เป็นลิ้นชักที่ไม่ได้ล็อก กุญแจ ช่างตัดผมหรือคนตัดผมคนหนึ่งคนใดนำเข้าไปซ่อนไว้ก็อาจทำได้ กุญแจสำหรับเปิดลิ้นชักใส่เครื่องมือตัดผมก็มิได้มีแต่ของที่จำเลยถือเท่านั้น ส่วนกลางก็มีอีก 1 ชุด ซึ่งบุคคลอื่นก็อาจเปิดห้องตัดผมได้ ไม่ใช่มีเพียงจำเลยเท่านั้นเมื่อสภาพที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่หลายคนเข้าออกได้ก็เป็นการไม่แน่นอนลงไปว่า เฮโรอีนเป็นของจำเลยเท่านั้น อาจเป็นของบุคคลอื่นก็ได้ คดียังเป็นที่สงสัยตามสมควร ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531 เวลากลางวันในขณะที่จำเลยเป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยถูกจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7325/2530 ของศาลชั้นต้น จำเลยบังอาจมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ข้อ 1(1) ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยทราบประกาศนี้แล้วจำนวน 1 ห่อ น้ำหนัก 0.03 กรัม ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ที่จำเลยมีไว้ดังกล่าวเป็นของกลาง เหตุเกิดที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 7325/2530 ของศาลชั้นต้นซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 3 ปี 9 เดือน ฐานลักทรัพย์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2530 ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และจำเลยได้กระทำความผิดในคดีก่อนนั้นภายหลังวันที่6 เมษายน 2525 ในขณะที่มีอายุเกินกว่า 17 ปี และระหว่างต้องรับโทษคดีดังกล่าว จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ลงวันที่ 17 กันยายน 2522 ข้อ 1(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92ริบเฮโรอีนของกลาง ให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และนับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 7325/2530 ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับกับจำเลยคดีหมายเลขแดงที่ 7325/2530 ของศาลชั้นต้น และกำลังรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาคดีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 67, 102 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ลดโทษหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 7325/2530 ของศาลชั้นต้นริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ เฮโรอีนของกลางมีไว้เป็นความผิดจึงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นผู้ต้องขังคดีความผิดฐานลักทรัพย์ตามสำเนาหมายจำคุกเอกสารหมาย จ.6ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายจรูญ ไทรงาม และนายประคอง เรือนอยู่ เป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมดูแลผู้ต้องขังแดน 5 เรือนจำแห่งนี้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531 เวลาประมาณ7 นาฬิกา นายจรูญ นายประคอง ได้เข้าทำการตรวจค้นห้องตัดผมที่แดน 5ซึ่งจำเลยทำหน้าที่เป็นช่างตัดผมถือกุญแจลิ้นชักเก็บรักษาดูแลเครื่องมือตัดผม ห้องแต่งผมดังกล่าวมีลิ้นชัก (ล๊อกเกอร์) 5 ลิ้นชักด้วยกัน ปิดใส่กุญแจทุกลิ้นชัก นายจรูญ นายประคอง จึงขอกุญแจจากจำเลยมาเปิดแล้วตรวจค้นก็พบผงสีขาวเป็นเฮโรอีนบรรจุในกระดาษห่อบุหรี่ 1 ห่อเล็ก และหลอดแก้วขนาดเล็กมีน้ำบรรจุอยู่จำนวน 2 หลอดอยู่ในลิ้นชักที่สองจึงยึดเป็นของกลาง และควบคุมจำเลยมาทำการสอบสวนจำเลยให้การรับว่าเฮโรอีนของกลางเป็นของจำเลยซื้อมาจากนอกแดนนำมาเก็บไว้เพื่อเสพ นายจรูญจึงจับกุมจำเลยแล้วทำบันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.2 พร้อมกับยึดของกลาง ส่งมอบให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการต่อมาได้รับมอบอำนาจตามหนังสือเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครลงวันที่ 29 มกราคม 2531 เอกสารหมาย จ.3 ให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ร้อยตำรวจเอกกฤษณ์ เทียบรัตน์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ได้ทำการสอบสวนจำเลยส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์ตามหนังสือบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.4ได้รับแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์มีน้ำหนัก0.03 กรัม ตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.1 สอบประวัติจำเลยแล้วได้รับแจ้งว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ และลักทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.7
จำเลยนำสืบว่า กุญแจลิ้นชักในห้องแต่งผมแดน 5 ที่เกิดเหตุมีสอบชุดด้วยกันชุดหนึ่งจำเลยเก็บรักษาไว้ ส่วนอีกชุดหนึ่งเก็บอยู่ที่ส่วนกลาง ในวันเกิดเหตุ ขณะที่จำเลยนั่งรับประทานอาหารอยู่กับเพื่อนอีก 2 คน ได้มีนักโทษชายธงไชย วิสุทธิเสน มาขอกุญแจเพื่อจะไปเปิดลิ้นชักในห้องแต่งผม โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้มาเอาจำเลยจึงเดินไปถามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แดน 5 เกี่ยวกับเรื่องกุญแจอีกชุดหนึ่งอยู่ที่ไหนแต่ได้รับคำตอบว่าไม่ทราบ จำเลยจึงมอบกุญแจให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปและได้บอกกับนักโทษชายธงไชยให้ช่วยเอากุญแจดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คืนจำเลยด้วยแล้วจำเลยก็กลับมารับประทานอาหารต่อ จนกระทั่งเวลาประมาณ 8 นาฬิกา หลังจากเคารพธงชาติแล้วได้มีนายจรูญ ไทรงาม เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ มาเรียกจำเลยไปพบที่ศาลาแดน เพื่อสอบถามเรื่องเฮโรอีนของกลาง จำเลยตอบว่าไม่ทราบ นายจรูญได้ร่างข้อความลงในเอกสารฉบับหนึ่งให้จำเลยเซ็นชื่อจำเลยไม่ยอมเซ็น นายจรูญจึงใช้ไม้ตีจำเลยพร้อมกับขู่ให้เซ็นชื่อมิฉะนั้นจะโดนตีมากกว่านี้ จำเลยกลัว จึงได้เซ็นชื่อตามเอกสารหมายจ.2 หลังจากนั้น จำเลยก็ถูกตีตรวนและนำไปขังซอย จำเลยมิได้กระทำผิดเฮโรอีนของกลางไม่ใช่ของจำเลย ห้องแต่งผมที่เกิดเหตุมีช่างตัดผม2 คน มีเครื่องมือตัดผม 3 ชุด มีลิ้นชักอยู่ที่เคาน์เตอร์ รวม5 ลิ้ชัก ลิ้นชักที่ 1, 3 และ 5 สำหรับเก็บเครื่องมือตัดผม ได้ล็อกกุญไจไว้ ส่วนลิ้นชักที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้ล็อกกุญแจเนื่องจากใช้เป็นที่เก็บของไม่มีค่า เช่น ขัน สบู่ การตรวจค้นไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลย
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีพยานคือนายจรูญ ไทรงาม กับนายประคองเรือนอยู่ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเบิกความว่าได้ค้นพบเฮโรอีนซุกซ่อนไว้ในลิ้นชักห้องตัดผมซึ่งจำเลยเป็นหัวหน้าช่างตัดผมของเรือนจำ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลห้องตัดผมและถือกุญแจห้องดังกล่าว จำเลยนำสืบว่า กุญแจสำหรับเปิดลิ้นชักใส่เครื่องมือแต่งผมมี 2 ชุดด้วยกัน ชุดหนึ่งอยู่ที่ตัวจำเลย และชุดหนึ่งอยู่ที่ส่วนกลาง ห้องแต่ผมมีช่าง 2 คน มีเครื่องมือตัดผม3 ชุด มีลิ้นชักอยู่ที่เคาน์เตอร์รวม 5 ลิ้นชัก ลิ้นชักที่ 1, 3, 5เก็บเครื่องมือตักผม ลิ้นชักที่ 2, 4 สำหรับเก็บของไม่มีค่า ซึ่งสองลิ้นชักนี้ไม่ได้ล็อกกุญแจ ลิ้นชักที่ 1, 3, 5 ต้องล็อกกุญแจไว้เสมอ เนื่องจากเก็บรักษาเครื่องมือตัดผม ลักษณะของห้องตัดผมและลิ้นชักปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 คนตัดผมมีจำนวนมาก เฮโรอีนไม่ใช่ของจำเลย และพยานโจทก์ผู้ค้นพบเฮโรอีนมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยเห็นว่า ที่เกิดเหตุเป็นห้องตัดผม ซึ่งมีผู้คนเข้าออกวันหนึ่ง ๆเป็นจำนวนหลายคนลิ้นชักที่พยานโจทก์พบเฮโรอีนก็เป็นลิ้นชักหมายเลข 2ซึ่งจำเลยนำสืบว่าไม่ได้ล็อกกุญแจ ช่างตัดผมหรือคนตัดผมคนหนึ่งคนใดนำเข้าไปซ่อนไว้ก็อาจทำได้ กุญแจสำหรับเปิดลิ้นชักใส่เครื่องมือตัดผมก็มิได้มีแต่ของที่จำเลยถือเท่านั้น ส่วนกลางก็มีอีก 1 ชุดซึ่งบุคคลอื่นก็อาจเปิดห้องตัดผมได้ ไม่ใช่มีเพียงจำเลยเท่านั้นเมื่อสภาพที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่หลายคนเข้าออกได้ ก็เป็นการไม่แน่นอนลงไปว่า เฮโรอีนเป็นของจำเลยเท่านั้น อาจเป็นบุคคลอื่นก็ได้ คดียังเป็นที่สงสัยตามสมควร ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share