คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2โดยขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3ชนสัญญาณไฟจราจรในขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์จนได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของสัญญาณไฟจราจรดังกล่าวแต่โจทก์มีหน้าที่จัดหา ติดตั้ง ครอบครองและบำรุงรักษาให้สัญญาณไฟจราจรที่ได้รับความเสียหายนั้นมีสภาพดีเช่นเดิม โจทก์จึงเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรม มีหน้าที่จัดหา ติดตั้งครอบครองดูแลรักษาสัญญาณไฟในเขตกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับบริษัทจำเลยที่ 3 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวชนซุ้มสัญญาณไฟจราจรของโจทก์จนแตกหักได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องซ่อมแซมเป็นเงิน 19,518 บาทจำเลยทั้งสามต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและไม่ได้เป็นผู้จัดหา ติดตั้งซุ้มสัญญาณไฟจราจรที่ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และมิได้ขับรถคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน19,518 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีหน้าที่จัดหา ติดตั้งครอบครอง ดูแลและรักษาสัญญาณไฟจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ที่ 465/2521 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2521 และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2528 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนสัญญาณไฟจราจรที่โจทก์ครอบครองดูแลรักษาอยู่เสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 แล้ววินิจฉัยว่าปัญหามีเพียงว่าโจทก์ซึ่งมีหน้าที่เพียง จัดหา ติดตั้ง ครอบครองดูแลและรักษาสัญญาณไฟจราจร ดังกล่าวมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดทำให้สัญญาณไฟจราจรในขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ต้องเสียหาย แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของสัญญาณไฟจราจรดังกล่าว โจทก์ก็จะต้องทำการจัดหาติดตั้ง และบำรุงรักษาให้สัญญาณไฟจราจรที่ต้องเสียหายนั้นให้มีสภาพดีเช่นเดิมตามหน้าที่ โจทก์จึงเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share