คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 129/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนให้แก่โจทก์แล้วถือว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ดังนั้น ไม่ว่าการแปลงหนี้ใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลย จะทำถูกต้องหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อซีตรองเพรสตีทไปจากโจทก์เป็นเงินค่าเช่าซื้อ 750,000 บาท ชำระค่าเช่าซื้องวดละ 25,000 บาท ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 มกราคม 2526 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 11 ติดต่อมาจนบัดนี้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันที ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 181,110 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันประมาณระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2526 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม2526 โดยจำเลยที่ 1 ได้โอนสัญญาเช่าซื้อให้บุคคลผู้มีชื่อโดยผู้มีชื่อได้ทำสัญญากับโจทก์แล้วโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทเอกสารหมาย จ.3 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับไปแล้วหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์พิพาทให้แก่นายดำรงค์ มีการทำหนังสือโอนสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทโดยโจทก์ให้ใช้แบบพิมพ์ของโจทก์ตามเอกสารหมายล.1 และโจทก์ยังได้ให้นายดำรงคืลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ล.2 โดยไม่มีการกรอกข้อความ ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างและค่าเช่าซื้อล่วงหน้าของผู้รับโอนสัญญาเช่าซื้ออีก 1 เดือน รวมเป็นเงิน 75,000 บาท ให้แก่โจทก์โดยจ่ายเป็นเช็คของนายดำรงค์ รวมทั้งค่าะรรมเนียมการโอนสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทและค่าอากร ตามใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมายจ. 14, จ. 15 รวมเป็นเงิน 2,927 บาท ให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้วอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติถูตก้องตามสัญญาเช่าซื้อ ประกอบกับในวันเดียวกันนั้นนายดำรงค์ก้ได้ทำแบบยื่นขอทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 โจทก์ก็รับไว้ พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 น่าจะได้คืนรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว มิฉะนั้นโจทก์คงจะไม่ยินยอมให้มีการตกลงโอนสิทธิตามสัยญาเช่าซื้อกันดังกล่าวข้างต้น ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อตามข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมา ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้นไม่ว่าการแปลงหนี้ใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะได้ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วนในผล…”
พิพากษายืน.

Share