คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำสืบฟังได้ว่า ต้องเสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นเงิน41,600 บาท ค่าซ่อมดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ตามกฎหมาย จำเลยจะขอศาลบังคับให้โจทก์รับรถจักรยานยนต์คันอื่นแทนหากโจทก์ไม่ยอมรับ ให้รับชำระราคารถจักรยานยนต์ที่จำเลยหามาแทนโดยโจทก์ไม่ยินยอมไม่ได้ เพราะกฎหมายมิได้ให้สิทธิผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดกระทำได้เช่นนั้น ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์คืออธิบดีหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งที่โจทก์แต่งตั้งไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมโจทก์เขียนบันทึกสั่งการไว้ท้ายบันทึกเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528 เห็นชอบตามที่เสนอว่าคนขับรถของจำเลยกระทำละเมิด ไม่ปรากฏว่าอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนหน้านั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้แก่จำเลยตั้งแต่วันนั้น โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529ยังไม่พ้น 1 ปี จึงยังไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกดังกล่าว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถจักรยานยนต์ ค่าเสียหายไม่ถึงที่ฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน41,600 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า รถจักรยานยนต์ของโจทก์ใช้มานานถึง 20 ปี ไม่อาจซ่อมได้ จำเลยที่ 2 หา รถจักรยานยนต์มีสภาพใกล้เคียงกันมาแทนได้ในราคาไม่เกิน 15,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าซ่อมเป็นเงิน 41,600 บาท จึงเกินกว่าสภาพความเสียหายที่แท้จริง ควรให้โจทก์ยอมรับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อเดียวกันซึ่งมีสภาพเดียวกันจากจำเลย หากโจทก์ไม่ยอมรับก็ให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหาย 15,000 บาท นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่าค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นด้วยเห็นว่า โจทก์นำสืบโดยมีนายแป๊ะ แซ่เต็ง เจ้าของร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบี.เอ็ม.ดับบลิว. โดยเฉพาะเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า รถจักรยานยนต์ของโจทก์ยังซ่อมได้ โดยต้องเปลี่ยนอะไหล่และเสียค่าบริการเป็นเงิน 41,600 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10เหตุที่ค่าซ่อมสูงเพราะอะไหล่หายาก เนื่องจากเป็นรถจักรยานยนต์ราคาแพง ไม่เป็นที่นิยมมากนัก จึงรับฟังได้ว่าโจทก์จะต้องซ่อมเสียเงินจำนวน 41,600 บาท ค่าซ่อมนี้เป็นค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ตามกฎหมาย จำเลยจะขอศาลบังคับให้โจทก์รับรถจักรยานยนต์คันอื่นแทนหรือให้รับราคารถจักรยานยนต์ที่จำเลยหามาแทนโดยโจทก์ไม่ยินยอมไม่ได้ เพราะกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่ผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดกระทำได้เช่นนั้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่าผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์คืออธิบดีหรือผู้ปฏิบัติราชการแทนคณะกรรมการสอบสวนหาผู้ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งที่โจทก์แต่งตั้งไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนได้บันทึกเสนอความเห็นว่า นายวันชัย คนขับรถกระทำละเมิด จำเลยที่ 1นายจ้างจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย นายวิสูตร วัฒนานุกิจรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมโจทก์ได้เขียนบันทึกสั่งการไว้ท้ายบันทึกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528 เห็นชอบตามเสนอ ทางนำสืบของโจทก์จำเลยไม่ปรากฏว่าอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนหน้านั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันนั้นโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 24 มกราคม 2529ยังไม่พ้น 1 ปี ฟ้องไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share