คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 80/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและได้นำเข้าไปร่วมในกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนประกอบการขนส่งไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ในการขับรถยนต์บรรทุกได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างให้แก่จำเลยที่ 2ด้วยความประมาทชนกับรถไฟของโจทก์ ดังนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในฐานะที่เป็นนายจ้างร่วมกันของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายในการซ่อมรถไฟคันเกิดเหตุ โจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าแรงและค่าของที่โจทก์ได้ใช้จ่ายไปจริงในการซ่อมดังกล่าวส่วนค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในโรงงาน ซึ่งมีค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเชื้อเพลิง ค่าเครื่องจักรทำงาน ค่าเสื่อมราคากับค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรและค่าควบคุมซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุละเมิดขึ้นนั้น โจทก์คิดคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งสองรายการดังกล่าวมาจากสถิติตามระเบียบของการรถไฟปี พ.ศ. 2525 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการคิดมาจากผลการทำละเมิด โจทก์ย่อมไม่สามารถเอาค่าใช้จ่ายทั้งสองรายการนี้มารวมกับค่าแรงและค่าของเพื่อคิดเป็นค่าเสียหายในการซ่อมรถไฟคันเกิดเหตุได้สำหรับค่าเสียหายด้านการโดยสารนั้น เนื่องจากเหตุที่รถไฟตกรางทำให้การเดินรถต้องหยุดชะงักเป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่โจทก์คำนวณค่าเสียหายดังกล่าวจากสถิติการจำหน่ายตั๋วรถไฟหลายขบวนที่โจทก์เคยได้รับค่าโดยสารมาถัวเฉลี่ย มิใช่รายได้ที่โจทก์ขาดไปจริง ศาลจึงมีอำนาจที่จะกำหนดค่าเสียหายจำนวนนี้ให้ได้ตามจำนวนที่เห็นว่าเหมาะสม นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมทางของฝ่ายการช่างโยธาทั้งค่าแรงและค่าของ ค่าแรงในการยกรถตกราง และค่าลากจูงรถไฟคันเกิดเหตุตามจำนวนที่ได้ใช้จ่ายไปจริง แต่ค่าโอเวอร์เฮดชาร์จในการยกรถตกราง ค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติงานและค่าควบคุมนั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าค่าโอเวอร์เฮดชาร์จกับค่าควบคุมซึ่งโจทก์คิดในอัตราร้อยละ51 และ 25 ของค่าแรงยกรถนั้นเกี่ยวข้องกับการซ่อมรายนี้อย่างไรและมีหลักการคิดคำนวณอย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิด ส่วนค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติงานโจทก์มิได้สืบว่าเหตุใดเมื่อจ่ายค่าแรงแล้วต้องจ่ายค่าอาหารอีกจึงเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสาม สำหรับค่าจัดรถพิเศษช่วยอันตรายที่โจทก์ต้องจัดขบวนรถไฟพิเศษไปจัดการเปิดทางนั้น โจทก์ได้คำนวณเพิ่มค่าควบคุมรถโดยสารในอัตราร้อยละ 20 รถสินค้าในอัตราร้อยละ 15 ไว้ด้วย โดยคิดคำนวณจากระเบียบของโจทก์ ค่าควบคุมส่วนที่คำนวณเพิ่มขึ้นนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิด ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-5567 นครปฐม ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วยความประมาทตัดหน้าขบวนรถดีเซลรางที่ 171ในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถไฟดีเซลรางที่ 171 ของโจทก์ชนรถยนต์บรรทุก โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ (1) ค่าซ่อมรถ บพช.16ซึ่งพ่วงมากับขบวนรถดีเซลรางที่ 171 เป็นค่าแรง 148,218.01 บาทค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงาน 156,370 บาท ค่าของ 57,237.96 บาทค่าควบคุม 90,456.49 บาท (2) ค่าเสียหายด้านการโดยสาร 8,347 บาท(3) ค่าซ่อมทางของฝ่ายการช่างโยธาเป็นค่าแรง 9,975.76 บาทค่าสิ่งของ 87,564.40 บาท (4) ค่าจัดเดินรถพิเศษช่วยอันตราย24,215 บาท (5) ค่าใช้จ่ายในการยกรถตกราง 13,121.80 บาท (6) ค่าลากจูง 2,650 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 598,156.42 บาท จำเลยที่ 2ที่ 3 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 598,156.42 บาท นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2527ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 44,861.73 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 643,018.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 598,156.42 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างและไม่ได้ทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-5567 นครปฐม จำเลยที่ 2 ขายและโอนให้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 จากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่เคยเกี่ยวข้อง และวันเกิดเหตุมิได้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว เหตุละเมิดเกิดขึ้นเพราะความประมาทของพนักงานโจทก์และโจทก์กระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมายไม่ป้องกันภัยตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 โจทก์มิได้รับความเสียหายหากจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เพียงจำนวนเงินไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน395,872.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-5567 นครปฐม ไปตามทางขนานกับทางรถไฟ ระหว่างสถานีนครปฐมกับสถานีโพรงมะเดื่อ เมื่อจะถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางที่จะตัดกับทางรถไฟ ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถด้วยความเร็วแซงรถคันอื่นขึ้นไปโดยไม่หยุดที่ป้ายสัญญาณจราจรที่ติดตั้งไว้ แล้วเลี้ยวตัดหน้ารถไฟขบวนดีเซลรางที่ 171 ของโจทก์ซึ่งแล่นมาตามราง และด้วยความประมาทของโจทก์ที่ละเลยไม่ทำสิ่งปิดกั้นทางไว้ในขณะที่รถไฟของโจทก์แล่นผ่านทางดังกล่าวโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้รถไฟของโจทก์คันดังกล่าวชนท้ายรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 รถยนต์บรรทุกและรถไฟต่างได้รับความเสียหาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3หรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์มากน้อยเพียงใด พิเคราะห์แล้วสำหรับในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์มีพยานเพียงปากเดียวมาสืบลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามนั้น เห็นว่า พยานโจทก์นอกจากจะมีนายเทศ ราชสันเทียะ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วนายเทศได้ไปสืบสวนและสอบสวนที่เกิดเหตุทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ที่นำมาร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 3 บรรทุกทรายไปส่งให้แก่ลูกค้าแล้วกลับมาบรรทุกทรายไปส่งให้อีกครั้ง แต่ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วแซงรถคันอื่นขึ้นไปโดยไม่หยุดที่ป้ายสัญญาณจราจรจึงได้ชนกับรถไฟของโจทก์ แล้วโจทก์ยังมีหนังสือของสำนักงานทะเบียนขนส่งจังหวัดนครปฐมตามเอกสารหมาย จ.1ที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จดทะเบียนประกอบการขนส่ง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ และมีหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนครปฐมตามเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า จำเลยที่ 3 จดทะเบียนวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้า รับเหมาถมที่ ซื้อขายดินทราย ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 จะต้องมีรถยนต์บรรทุกไว้ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 ด้วยพยานของโจทก์จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่นำสืบมาลอย ๆ แต่อย่างใด ส่วนพยานของจำเลยทั้งสามนั้น แม้จำเลยที่ 2จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วตามสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย ล.1 แต่สัญญาซื้อขายดังกล่าวก็ทำกันไว้นานกว่า 2 ปี ก่อนเกิดเหตุแล้ว โดยยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกันให้เป็นที่เรียบร้อยนับว่าเป็นพิรุธ ทั้งตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ก็ได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีอาชีพทำไร่อ้อย มีกำไรสุทธิเป็นเงินปีละ 5,000 บาท เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะมีนายนิพนธ์ ชัยโย เบิกความสนับสนุนว่ารถยนต์บรรทุกเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจจะเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ซื้อขายรถยนต์บรรทุกกันจริงพยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักดีกว่าพยานของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและได้นำไปเข้าร่วมในกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนประกอบการขนส่งไว้ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ในการขับรถยนต์บรรทุก ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 และเกิดชนกับรถไฟของโจทก์ ดังนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเป็นนายจ้างร่วมกันของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด สำหรับค่าเสียหายในการซ่อมรถไฟคันเกิดเหตุของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งเป็นค่าแรงจำนวน148,218.01 บาท และค่าของจำนวน 57,237.96 บาท โจทก์มีนายเฉลียว สุขเวช มาเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวเชื่อได้ว่าโจทก์ได้ใช้จ่ายไปจริง ส่วนค่าเสียหายซึ่งโจทก์ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในโรงงานซึ่งมีค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าเชื้อเพลิงค่าเครื่องจักรทำงาน ค่าเสื่อมราคาและค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรคิดเป็นเงินจำนวน 156,370 บาท กับค่าควบคุมซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุละเมิดขึ้นจำนวน 90,456.49 บาท นั้น แม้โจทก์จะมีนายไพฑูรย์ ศรีวรวิทย์มาเบิกความว่า ค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถไฟไม่ครบถ้วนจึงต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายในโรงงานและค่าควบคุม โดยคิดมาในอัตรา 105.5 ของค่าแรง 1 หน่วย สำหรับค่าใช้จ่ายในโรงงาน และอัตราร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในโรงงานสำหรับค่าควบคุม ซึ่งหลักการในการคิดคำนวณนี้ นายธงไชย นาคสีเหลือง เบิกความว่า เป็นระเบียบของการรถไฟปี พ.ศ. 2525 ให้ถือปฏิบัติโดยนำวิธีการคำนวณมาจากสถิติก็ตาม แต่หลักการในการคิดค่าเสียหายของโจทก์ดังกล่าวนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการคิดมาจากผลการทำละเมิด โจทก์จะคิดเอาค่าใช้จ่ายทั้งสองรายการนี้มารวมกับค่าแรงและค่าของเพื่อคิดเป็นค่าเสียหายเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสามไม่ได้ สำหรับค่าเสียหายด้านการโดยสารจำนวนเงิน 8,347 บาท โจทก์มีนายสำเนา วัชรสินธุ์ เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.18 ว่า จากเหตุที่รถไฟโจทก์ตกรางทำให้การเดินรถต้องหยุดชะงักเป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้ เมื่อคิดจากสถิติการจำหน่ายตั๋วรถไฟหลายขบวนที่โจทก์เคยได้รับค่าโดยสารมาถัวเฉลี่ยจะเป็นเงิน 8,347 บาท นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้เป็นเงิน 4,000 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นคุณกับจำเลยทั้งสามแล้ว สำหรับค่าเสียหายในการซ่อมทางของฝ่ายการช่างโยธา เป็นค่าแรง 9,975.76 บาท ค่าของ 87,564.40 บาท ตามเอกสารหมาย จ.11 ค่าใช้จ่ายในการยกรถตกราง เป็นค่าแรง6,426.20 บาท ตามเอกสารหมาย จ.12 ค่าลากจูงรถไฟคันเกิดเหตุจำนวน 2,650 บาท ตามเอกสารหมาย จ.20 โจทก์มีนายจำรัส เสกตระกูลนายธงไชย นาคสีเหลือง และนางสังวาลย์ โกมลเดช เบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวว่าเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ใช้จ่ายไปหลังจากเหตุละเมิดจริง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้จากจำเลยทั้งสามแต่สำหรับค่ายกรถตกรางซึ่งโจทก์คิดเป็นค่าโอเวอร์เฮดชาร์จค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติงานและค่าควบคุมเพิ่มขึ้นมานั้นเห็นว่า ค่าโอเวอร์เฮดชาร์จ กับค่าควบคุมซึ่งคิดในอัตราร้อยละ51 และร้อยละ 25 ของค่าแรงยกรถตามลำดับ โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการซ่อมรายนี้อย่างไรและมีหลักการคิดคำนวณอย่างไรจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดส่วนค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติงานโจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดเมื่อจ่ายค่าแรงแล้วต้องจ่ายค่าอาหารอีก จึงเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสาม สำหรับค่าจัดรถพิเศษช่วยอันตรายซึ่งโจทก์มีนายสมยศ รุจิโมรา มาเบิกความว่าเมื่อเกิดเหตุคดีนี้ต้องจัดขบวนรถไฟพิเศษของโจทก์ไปจัดการเปิดทางทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 24,215 บาท ปรากฏหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.19 นั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายสมยศว่าได้คำนวณเพิ่มค่าควบคุมรถโดยสารในอัตราร้อยละ 20 รถสินค้าในอัตราร้อยละ 15 ไว้ด้วย โดยคิดคำนวณจากระเบียบของโจทก์การที่นายสมยศคำนวณค่าควบคุมการจัดเดินรถพิเศษช่วยอันตรายเพิ่มขึ้นมาตามระเบียบของโจทก์ดังกล่าวนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดจึงต้องกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ใหม่เป็นจำนวนเงิน 19,750 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ได้รับจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน335,822.33 บาท เนื่องจากเหตุละเมิดในครั้งนี้โจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วย และที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในผลแห่งความประมาทสองในสามส่วน โจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาขึ้นมา จึงถือได้ว่าเป็นที่พอใจแล้ว เมื่อคิดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์จึงเป็นเงินทั้งสิ้น 223,881.55 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 223,881.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2527 ซึ่งเป็นวันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์

Share