คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ขายยาประเภทค.. ซึ่งตามกฎหมายจะขายยาอันตรายมิได้. การที่จำเลยฝ่าฝืนเท่ากับจำเลยขายยาอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต. ยาของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำผิด. จะริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายยาอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 6, 7, 8, 16, 32พระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2498 มาตรา 3, 7กฎกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2494) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 ข้อ 4 กฎกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2498) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493ข้อ 4 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุยาอันตราย ตามความในพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2498และฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 และให้ริบยาของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาว่าจำเลยผิดตามฟ้อง ปรับ 400 บาทรับสารภาพลดกึ่งหนึ่งคงปรับ 200 บาท ของกลางไม่ควรริบ ให้ยกคำขอของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบยาของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ขายยาประเภท ค.ซึ่งตามกฎหมายจะขายยาอันตรายมิได้การที่จำเลยฝ่าฝืนขายยาอันตรายไปเช่นนี้ เท่ากับจำเลยขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ยาของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำผิดจะริบไม่ได้ พิพากษายืน.

Share