คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1197/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1106 การที่ผู้ร้องเข้าชื่อซื้อหุ้นบริษัทผู้ล้มละลาย ย่อมต้องถูกผูกพันอยู่ในอันที่จะต้องชำระเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทโดยมีเงื่อนไขว่าถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้น. ฉะนั้น ระหว่างที่เงื่อนไขอันนี้ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนยังไม่สำเร็จผู้ร้องซึ่งได้เข้าชื่อซื้อหุ้นไว้แล้วจะต้องถูกผูกพันอยู่ตลอดไป.ผู้ร้องจะถอนการเข้าชื่อซื้อหุ้นหาได้ไม่. และการที่ผู้ร้องถอนหุ้นภายหลังที่บริษัทจำเลยจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว.แม้ก่อนประกาศการจดทะเบียนในหนังสือราชกิจจานุเบกษา. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงไปอย่างใด.ฉะนั้น เมื่อบริษัทจำเลยตั้งขึ้นแล้ว ผู้ร้องย่อมมีความผูกพันที่จะใช้เงินค่าหุ้นที่ได้เข้าชื่อซื้อไว้.เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นได้.

ย่อยาว

เดิม ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือไปยังนายไหมผู้ร้องให้ชำระเงินค่าหุ้นของบริษัทผู้ล้มละลาย ซึ่งผู้ร้องถืออยู่ 10 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาทรวมเป็นเงิน 10,000 บาท ผู้ร้องปฏิเสธหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลว่า ผู้ร้องถอนหุ้นไปแล้ว ฯลฯ ในวันนัดสืบพยาน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งใบจองหุ้นและหนังสือเรียกเงินค่าหุ้น คู่ความรับว่าเป็นเอกสารที่มีอยู่แท้จริงและถูกต้อง คู่ความรับกันต่อไปว่า ได้มีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำเลยที่กรมทะเบียนการค้า ส่งสำเนาให้ศาลแล้วและประกาศฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2497 จริงและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงว่า ไม่ค้านความมีอยู่และความจริงถูกต้องของหนังสือบอกเลิกการจองหุ้นลงวันที่15 มกราคม 2497 และใบรับฝากไปรษณีย์ภัณฑ์เลขที่ 0383 ซึ่งผู้ร้องได้ขอหมายศาลเรียกมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีคงเหลือประเด็นให้ศาลชี้ขาดเพียงว่า การที่ผู้ร้องขอถอนหุ้นก่อนประกาศการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำเลยนั้น ผู้ร้องจะพ้นความรับผิดในการส่งเงินค่าหุ้นหรือไม่ข้อเดียว เป็นประเด็นข้อกฎหมายศาลชั้นต้นจึงสั่งงดสืบพยานทั้ง 2 ฝ่ายเสีย และเห็นว่านายพิมพ์ เจริญพันธ์ ผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทได้ชักชวนผู้ร้องให้จองหุ้นก่อนจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1102 และผู้ร้องได้ขอถอนหุ้นก่อนมีประกาศการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ การจองหุ้นของผู้ร้องจึงเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันผู้ร้อง ผู้ร้องไม่จำต้องส่งใช้เงินค่าหุ้นตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยันหนี้นั้น จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายหนี้รายนี้จากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้บังคับผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 10,000 บาท ฯลฯ ผู้ร้องฎีกาสำหรับในข้อกฎหมายที่ว่า การที่ผู้ร้องขอถอนหุ้นก่อนประกาศจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทผู้ล้มละลายผู้ร้องจะพ้นความรับผิดในการเสียเงินค่าหุ้นหรือไม่นั้น มาตรา 1106แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ว่า “การเข้าชื่อซื้อหุ้นนั้น ย่อมผูกพันผู้เข้าชื่อซื้อโดยเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นแล้วจะใช้จำนวนเงินค่าหุ้นนั้น ๆ ให้แก่บริษัทตามหนังสือชี้ชวนและข้อบังคับของบริษัท” ฉะนั้น การที่ผู้ร้องได้เข้าชื่อซื้อหุ้นบริษัทผู้ล้มละลายจึงต้องถูกผูกพันอยู่ในอันที่จะต้องชำระเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัท โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทได้ตั้งขึ้นฉะนั้น ระหว่างที่เงื่อนไขอันนี้ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนยังไม่สำเร็จ ผู้ร้องซึ่งได้เข้าชื่อซื้อหุ้นไว้แล้วจะต้องถูกผูกพันอยู่ตลอดไป ซึ่งถ้ามิได้มีบทบังคับไว้เช่นนี้ จะทำความลำบากให้แก่การตั้งบริษัทมาก เพราะการประชุมจัดตั้งบริษัทจะทำขึ้นได้ต่อเมื่อมีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นหมด ฉะนั้น ในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ผู้ร้องจะถอนการเข้าชื่อซื้อหุ้นนั้นหาได้ไม่ทั้งได้ความอยู่ว่า การถอนของผู้ร้องได้ถอนภายหลังที่บริษัทได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว แม้ก่อนจะประกาศการจดทะเบียนในหนังสือราชกิจจานุเบกษาก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงไปอย่างใด ฉะนั้น เมื่อบริษัทได้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้ร้องย่อมมีความผูกพันที่จะใช้เงินค่าหุ้นที่ได้เข้าชื่อซื้อไว้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิเรียกให้ผู้ร้องชำระเงินค่าหุ้นได้ พิพากษายืน.

Share