คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์โดยขู่เข็ญจะกระทำร้ายเพื่อให้เจ้าทรัพย์ส่งทรัพย์ให้. มิได้บรรยายว่าจำเลยฉกฉวยพาหนีไปต่อหน้าอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์. เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยลักทรัพย์ โดยมิได้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญจะใช้กำลังประทุษร้าย. หากแต่ได้ลักทรัพย์โดยฉกฉวยทรัพย์วิ่งหนีไปต่อหน้า อันเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนี้. เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์. ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งมีลักษณะพิเศษไปจากการลักทรัพย์ธรรมดา เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์. คดีจึงคงลงโทษจำเลยได้ในฐานลักทรัพย์เท่านั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือได้ใช้กำลังประทุษร้ายนางปิ่นผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และได้ลักทรัพย์เงินจำนวน 1,500 บาทของผู้เสียหายไป โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 339และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ชั้นเริ่มพิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังสืบพยานโจทก์ได้สองปากจำเลยขอรับสารภาพฐานทำร้ายร่างกาย คงยังปฏิเสธในข้อหาฐานชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงในข้อหาชิงทรัพย์ว่า จำเลยได้เอาเงินผู้เสียหายไปโดยจับมือผู้เสียหายแล้วทวงเงิน เมื่อผู้เสียหายล้วงเงินออกมาเพื่อจะมอบให้จำเลยจึงฉกฉวยเงินพาหนีไป เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์และแม้โจทก์จะฟ้องในข้อหาชิงทรัพย์ ก็ลงโทษในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 336ให้ลงโทษตามมาตรา 336 อันเป็นกระทงหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 วางโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน รับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกายมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 78 คงจำคุกไว้ 1 ปีและให้คืนหรือใช้เงิน 1,500 บาทแก่เจ้าทรัพย์ โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาว่าพฤติการณ์ที่จำเลยจับมือผู้เสียหาย และพูดบังคับให้ส่งเงินให้เป็นการขู่เข็ญ และการจับมือผู้เสียหายถือเป็นการประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) ขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาโจทก์ในปัญหาว่าการกระทำต่อผู้เสียหายเป็นการขู่เข็ญหรือไม่นั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วเมื่อคดีห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงเป็นฎีกาต้องห้ามให้ยกฎีกาโจทก์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์โดยการขู่เข็ญเพื่อให้เจ้าทรัพย์ส่งทรัพย์ให้มิได้บรรยายว่าจำเลยฉกฉวยพาหนีไปต่อหน้า อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ด้วยความผิดฐานชิงทรัพย์รวมการกระทำฐานลักทรัพย์และทำร้ายร่างกายเข้าด้วยกันซึ่งแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ส่วนความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งมีลักษณะพิเศษไปจากการลักทรัพย์ธรรมดา เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องถึงการกระทำผิดของจำเลยว่าเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์จะลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ คดีคงลงโทษได้ในฐานลักทรัพย์เท่านั้นพิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 334แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 334 ซึ่งเป็นกระทงหนัก ส่วนกำหนดโทษและลดโทษคงให้เป็นไปตามเดิม นอกนั้นให้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share