คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4058/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งมีมูลมาจากสัญญาต่างตอบแทนการทำไร่อ้อย จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์คิดราคาอ้อยค่าขนส่ง เงินชดเชย และดอกเบี้ยให้จำเลยไม่ถูกต้องโดยในปี 2524จำเลยควรจะได้รับเงิน 178,550 บาทเศษ แต่โจทก์คิดหักทอนบัญชีแล้วอ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้อยู่ 84,753 บาท ปี 2525 จำเลยควรจะได้รับเงิน 212,381 บาท แต่โจทก์คิดหักทอนบัญชีแล้วอ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้อยู่ 20,336 บาท นอกจากนั้นโจทก์ได้ตัดอ้อยของจำเลยจำนวน 2 ไร่ 1 งาน คิดเป็นเงิน 13,500 บาท แต่โจทก์ก็มิได้คิดหักทอนให้จำเลย ในปี 2525 จำเลยมีอ้อยประมาณ 170 ตัน แต่โจทก์ผิดสัญญามาตัดไปเพียง 10 ตัน ที่เหลือปล่อยให้แห้งตายทำให้จำเลยเสียหาย หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเป็นเอกสารปลอมเพราะโจทก์กรอกข้อความในแบบพิมพ์ซึ่งมีลายมือชื่อจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย คำให้การดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า จำนวนเงินที่ระบุในหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกควรเป็นเท่าใด จำเลยคงให้การต่อสู้เกี่ยวกับหนังสือรับสภาพหนี้แต่เพียงว่าเป็นเอกสารปลอม ฉะนั้น คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำนวนเงินในหนังสือรับสภาพหนี้ถูกต้องหรือไม่ คงมีประเด็นแห่งคดีตามคำให้การเพียงว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไว้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด จึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นข้อนี้จึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาตามฎีกาข้อต่อมาว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอมหรือไม่นั้น ในการชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้ไว้และจำเลยก็มิได้โต้แย้ง ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาต่างตอบแทนการทำไร่อ้อยกับโจทก์มีกำหนด 3 ปี โดยจำเลยตกลงจะปลูกและบำรุงรักษาต้นอ้อยในเนื้อที่ 38 ไร่ กับยอมให้ต้นอ้อยเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และโจทก์ตกลงให้จำเลยเบิกเงิน สิ่งของต่าง ๆ และเครื่องอุปกรณ์ในการปลูกอ้อยซึ่งคิดเป็นเงินเพื่อใช้ในการปลูกและรักษาต้นอ้อย โดยจำเลยจะต้องลงลายมือชื่อในบัญชีรายการรับเงินและสิ่งของต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐานแก่โจทก์เพื่อใช้หักทอนบัญชี ซึ่งหากฝ่ายใดยังคงเป็นหนี้อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องชำระให้ครบถ้วน นับจากวันทำสัญญาจนกระทั่งครบกำหนดตามสัญญา จำเลยได้เบิกเงินและสิ่งของไปจากโจทก์หลายครั้งเมื่อคิดหักทอนบัญชีกันแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน 43,074 บาท ต่อมาจำเลยได้ทำบันทึกการรับสภาพหนี้จำนวนดังกล่าวไว้แก่โจทก์ แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์คิดหักทอนบัญชีในปี 2524 และ 2525ไม่ถูกต้อง โดยโจทก์คิดราคาอ้อยให้จำเลยน้อยกว่าที่เป็นจริงและคิดดอกเบี้ยกับค่าขนส่งจากจำเลยโดยมิได้ตกลงกันไว้ในสัญญาในปี 2525 โจทก์คิดเงินค่าชดเชยให้จำเลยน้อยกว่าที่รัฐบาลกำหนดและโจทก์ตัดอ้อยไปไม่หมด ทำให้อ้อยที่เหลือ 160 ตัน แห้งตายเสียหาย จำเลยลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์บันทึกการรับสภาพหนี้โดยมิได้กรอกข้อความ บันทึกการรับสภาพหนี้ตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,008 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน 53,439 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใดเป็นการไม่ชอบ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งมีมูลมาจากสัญญาต่างตอบแทนการทำไร่อ้อยจำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์คิดราคาอ้อย ค่าขนส่ง เงินชดเชย และดอกเบี้ยให้จำเลยไม่ถูกต้องโดยในปี 2524 จำเลยควรจะได้รับเงิน178,550 บาทเศษ แต่โจทก์คิดหักทอนบัญชีแล้วอ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้อยู่ 84,753 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง ปี 2525 จำเลยควรจะได้รับเงิน212,381 บาท แต่โจทก์คิดหักทอนบัญชีแล้วอ้างว่า จำเลยยังเป็นหนี้อยู่ 20,336 บาท ซึ่งไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นโจทก์ได้ตัดอ้อยของจำเลยจำนวน 2 ไร่ 1 งาน คิดเป็นเงิน 13,500 บาท แต่โจทก์ก็มิได้คิดหักทอนให้จำเลย ในปี 2525 จำเลยมีอ้อยประมาณ 170 ตัน แต่โจทก์ผิดสัญญามาตัดไปเพียง 10 ตัน ที่เหลือปล่อยให้แห้งตายทำให้จำเลยเสียหาย หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเป็นเอกสารปลอมเพราะโจทก์กรอกข้อความในแบบพิมพ์ซึ่งมีลายมือชื่อจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย จากคำให้การของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า จำนวนเงินที่ระบุในหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกควรเป็นเท่าใด จำเลยคงให้การต่อสู้เกี่ยวกับหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแต่เพียงว่า เป็นเอกสารปลอม ฉะนั้น คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำนวนเงินในหนังสือรับสภาพหนี้ถูกต้องหรือไม่ คงมีประเด็นแห่งคดีตามคำให้การเพียงว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไว้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด จึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นข้อนี้จึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาตามฎีกาข้อต่อมาว่า หนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอมหรือไม่นั้น เห็นว่าในการชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้ไว้และจำเลยก็มิได้โต้แย้ง ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้วแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share