คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน จำนวน 7,197,397 ลิตรจากประเทศสิงค์โปร์เข้ามาในราชอาณาจักร แต่ไม่สามารถทำใบขนที่สมบูรณ์และปฏิบัติการเสียภาษีได้ทันที จึงทำเรื่องขอผ่อนผันนำน้ำมันออกไปก่อนและเสียภาษีอากรภายหลัง จำเลยอนุญาตโดยให้โจทก์วางเงินสดจำนวนหนึ่งไว้เพื่อเป็นประกันภาษีและอากรขาเข้าต่อมาปรากฏว่าน้ำมันที่โจทก์นำเข้ามีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ โจทก์จึงไม่ได้สูบถ่ายน้ำมันจากเรือที่นำเข้าขึ้นไปเก็บในถังบนบก และโจทก์ได้รับอนุญาติจากจำเลยให้ส่งน้ำมันคืนไปยังผู้ขายที่ประเทศสิงค์โปร์ ดังนี้ ถือว่าโจทก์ได้นำน้ำมันเข้ามาในราชอาณาจักรสำเร็จตั้งแต่ขณะที่เรือนำน้ำมันเข้ามาในเขตท่าที่จะสูบถ่ายน้ำมันจากเรือไปเก็บในถังบนบก โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากรให้จำเลย แต่เงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลยมิใช่เงินค่าภาษีอากรขาเข้า จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขของมาตรา 19แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ทั้งมาตรา 112 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้กำหนดว่าในการวางเงินประกันเช่นนี้ พนักงานศุลกากรจะต้องทำการประเมินและแจ้งให้โจทก์ผู้นำของเข้านำภาษีอากรไปชำระเสียก่อน ดังนั้นโจทก์จึงไม่ต้องขอคืนเงินภาษีอากรภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งของนั้นกลับออกไปตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำเข้าสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 3 ชนิดคือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเบนซินชนิดพิเศษ และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจากประเทศสิงค์โปร์เข้ามาในประเทศไทย เมื่อเรือมาถึงประเทศไทยแล้ว โจทก์ยังไม่สามารถทำใบขนที่สมบูรณ์และปฏิบัติพิธีการเสียภาษีได้ทันที เนื่องจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษียังส่งมาไม่ครบถ้วน โจทก์มีความจำเป็นจะต้องนำน้ำมันทั้ง 3 ชนิดออกไปก่อนที่จะทำพิธีการเสียภาษีอากร จึงทำเรื่องขอผ่อนผันนำสินค้าออกไปก่อนและเสียภาษีอากรในภายหลัง จำเลยอนุญาตโดยให้โจทก์วางเงินสดจำนวน 86,461,000 บาท และโจทก์ได้วางเงินประกันจำนวนดังกล่าวไว้ต่อจำเลยแล้ว ต่อมาโจทก์ได้รับรายงานจากพนักงานของโจทก์ว่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่นำเข้าจำนวน 7,197,397 ลิตร มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน โจทก์ไม่สามารถรับได้ และโจทก์ไม่ได้สูบถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานขึ้นจากเรือไปเก็บในถังบนบก โจทก์ได้ทำพิธีการทางศุลกากรขอส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ขาย จำเลยอนุมัติให้โจทก์ส่งออกกลับคืนไปยังผู้ขายและถือว่าไม่มีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจำนวนดังกล่าวหลังจากนั้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2532 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยและใบเสร็จรับเงินอากรขาเข้าของน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 3 ชนิดเป็นจำนวนเงิน 78,603,283 บาท จำเลยนำเงินสดที่โจทก์วางประกันไว้ไปใช้ชำระค่าอากรขาเข้าและภาษีดังกล่าว ส่วนเงินประกันที่ยังคงเหลืออีก 7,857,717 บาท จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ไปรับคืนจากจำเลยโจทก์จึงทราบว่าจำเลยได้นำเงินประกันของโจทก์ไปหักเป็นอากรขาเข้าภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทย จากน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจำนวน 7,197,397 ลิตร ที่จำเลยได้อนุญาตให้โจทก์ส่งกลับคืนออกไปยังผู้ขายเป็นเงินทั้งสิ้น 3,706,658.49 บาท เป็นการไม่ชอบ ทำให้โจทก์ได้รับเงินประกันคืนขาดจำนวนไป 3,706,658.49 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรไปยังผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคา ต่อมากองพิธีการและประเมินอากรแจ้งให้โจทก์ทราบว่า การประเมินอากรสำหรับสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานถูกต้องแล้ว โจทก์ทำหนังสือขอคืนเงินอากรในใบขอคืนเงินแบบที่ 226 พร้อมกับหลักฐานการชำระอากรขาเข้าซึ่งจำเลยได้ออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ ยื่นต่อกองคืนอากรและส่งเสริมการส่งออก จำเลยได้พิจารณาเรื่องของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นใบขอคืนเงินแบบที่ 226 เพื่อขอคืนเงินภายใน 6 เดือนนับแต่วันส่งออก จึงไม่มีสิทธิได้รับคืนภาษีอากรที่ชำระไว้ เพราะขัดต่อเงื่อนไขของมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 ประกอบด้วยประกาศกรมศุลกากรที่ 26/2528 ข้อ 9 และประกาศกรมศุลกากรที่ 27/2523 ข้อ 2 การที่จำเลยไม่คืนเงินจำนวน3,706,658.49 บาท ให้โจทก์เป็นการไม่ชอบ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่โจทก์นำเข้าและส่งคืนออกไปยังผู้ขายเดิม ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียอากรขาเข้าและภาษีต่าง ๆ ขอศาลบังคับให้จำเลยคืนเงินอากรนำเข้าและภาษีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จนถึงวันฟ้องรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,903,574.49 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 3,706,658.49 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์นำของเข้ามาสำเร็จแล้วตั้งแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของลงจากเรือ ความรับผิดของโจทก์ในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นแล้วในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ตามมาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำเลยจึงมีอำนาจประเมินภาษีอากรน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานได้ โดยโจทก์มีสิทธิที่จะขอคืนเงินภาษีอากรได้ตามเงื่อนไขและข้อบังคับที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ซึ่งต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป แต่โจทก์ยื่นคำขอเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของกลับออกไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินอากรนำเข้าและภาษีจำนวน 3,706,658.49 บาท ตลอดจนดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 3,903,574.49 บาทให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน3,706,658.49 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2532 โจทก์นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 3 ชนิด คือน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเบนซินชนิดพิเศษ และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน จากประเทศสิงค์โปร์เข้ามาในประเทศไทยโดยบรรทุกมาในเรือไอเวอร์ ติกิ เมื่อเรือเข้าจอดในเขตท่าที่จะถ่ายของลงจากเรือ โจทก์ไม่สามารถทำใบขนที่สมบูรณ์และปฏิบัติพิธีการเสียภาษีได้ทันที โจทก์จึงทำเรื่องขอผ่อนผันนำสินค้าดังกล่าวออกไปก่อนและเสียภาษีอากรภายหลัง จำเลยอนุญาตโดยให้โจทก์วางเงินสดจำนวน 86,461,000 บาท เพื่อเป็นประกันภาษีและอากรขาเข้าน้ำมันทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว โจทก์ได้สูบถ่ายและเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจปล่อยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษเข้าไว้ในถัง ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่นำเข้าจำนวน 7,197,397 ลิตร มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้โจทก์ไม่ได้สูบถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจากเรือไปเก็บในถังบนบกและจะต้องส่งน้ำมันดังกล่าวกลับคืนไปยังผู้ขายที่ประเทศสิงค์โปร์น้ำมันดังกล่าวอยู่ในอารักขาศุลกากรรอผ่านพิธีการรีเอกซ์ปอร์ตต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2532 จำเลยอนุมัติให้โจทก์ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานออกไปจากอารักขาของศุลกากรได้เพื่อคืนไปยังผู้ขายเดิม ครั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2532 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยและใบเสร็จรับเงินอากรขาเข้าของน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งสามชนิดที่โจทก์นำเข้าโดยจำเลยหักเงินประกันที่โจทก์วางไว้เป็นค่าภาษีอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทย และให้โจทก์รับคืนเงินประกันที่เหลือจำนวน 7,857,717 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรไปยังกองวิเคราะห์ราคา กองพิธีการและประเมินอากรและกองคืนอากรและส่งเสริมการส่งออกตามลำดับ แล้วกองคืนอากรและส่งเสริมการส่งออกมีหนังสือแจ้งไปยังโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับคืนภาษีอากรที่ชำระไว้เพราะขัดต่อเงื่อนไขตามมาตรา 19แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ประกาศกรมศุลกากรที่ 27/2523 ข้อ 2 และประกาศกรมศุลกากรที่ 26/2528 ข้อ 9คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกคืนเงินอากรขาเข้าและภาษีสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์นำน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเข้าเป็นอันสำเร็จตั้งแต่ขณะที่เรือนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในเขตท่าที่จะสูบถ่ายน้ำมันจากเรือไปเก็บในถังบนบก เมื่อโจทก์นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรสำเร็จ โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากรให้จำเลยแต่เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถทำใบขนที่สมบูรณ์และปฏิบัติตามพิธีการเสียภาษีได้ทันที น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานจึงยังคงเก็บอยู่ในเรือและอยู่ในอารักขาของศุลกากร โจทก์ขอวางเงินไว้เป็นประกันและจำเลยอนุญาตแล้ว เงินประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินค่าภาษีอากรขาเข้าเงินประกันดังกล่าวจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขของมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 และมาตรา 112 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 กำหนดว่า ในการวางเงินเป็นประกันเช่นนี้พนักงานศุลกากรจะต้องทำการประเมินและแจ้งให้โจทก์ผู้นำของเข้านำภาษีอากรไปชำระเสียก่อน ดังนั้น โจทก์จึงไม่ต้องขอคืนเงินภาษีอากรภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปและเมื่อกรณีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของมาตรา 19 ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามประกาศกรมศุลกากรที่ 26/2528 ข้อ 9 และประกาศกรมศุลกากรที่ 27/2523 ตามข้ออ้างของจำเลย จำเลยต้องคืนเงินประกันดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้องศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share