แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในระหว่างเวลาซึ่งอยู่ในอายุใบอนุญาตก่อสร้าง จำเลยที่ 1กับพวกได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้แก้ไขรื้อถอนและสั่งให้ระงับการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม ดังนั้นการที่จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการกระทำความผิดสำเร็จไปแล้วกรรมหนึ่งและเมื่อครบกำหนดในใบอนุญาตให้ก่อสร้างแล้ว จำเลยไม่ต่อใบอนุญาตก่อสร้าง แต่ยังคงก่อสร้างต่อไปอีกอันเป็นการก่อสร้างในขณะที่ใบอนุญาตให้ก่อสร้างหมดอายุจึงเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21,65,69 และ 71อีกกรรมหนึ่งต่างไปจากกรรมแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ที่ 5ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 9เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ก. เมื่อระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526 เวลากลางวันถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2527 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยที่ 1ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการก่อสร้างได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยเป็นตึกแถว 2 ชั้นมีดาดฟ้า จำนวน 84 ห้อง ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนริมทางรถไฟ แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร หนังสืออนุญาตมีกำหนดอายุถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2527 โดยมีจำเลยที่ 9 กับพวกอีก 1 คนเป็นผู้ควบคุมงาน ได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยดังกล่าวให้ผิดไปจากแผนผัง บริเวณแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 โดยก่อสร้างอาคารดัดแปลงต่อเติมอาคารเป็นอาคารตึกแถว 3 ชั้น จำนวน 10 ห้อง ไม่มีชั้นลอยและไม้กั้นผนังระหว่างห้อง สร้างอาคารตึกแถวเกินจากแบบ 2 ห้องและสร้างปกคลุมที่ว่างหลังอาคารไม่เว้นช่องว่างเป็นทางเดินหลังอาคารตามแบบและตามกฎหมายจำนวน 2 ห้องจำเลยทั้งเก้าได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 10กุมภาพันธ์ 2526 จนถึงวันฟ้องรวม เวลา 1,395 วัน และยังคงฝ่าฝืนต่อไป
ข. เมื่อระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงวันที่ 8 มกราคม2528 เวลากลางวันติดต่อกัน อันเป็นเวลาภายหลังเมื่อครบกำหนดอายุการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารในข้อ ก. แล้ว จำเลยทั้งเก้ายังคงร่วมกันดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อไปจนแล้วเสร็จ
ค. ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2527 เวลากลางวันเจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยทั้งเก้ากับพวกในฟ้องข้อ ก. และ ข. และในวันที่ 23 กรกฎาคม 2527 เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ระงับการกระทำการก่อสร้างดังกล่าวในฟ้องข้อ ก. ในทันทีที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ได้รับคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2527 แต่ก็มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่ยังคงร่วมกระทำการฝ่าฝืนก่อสร้างอาคารดังกล่าวให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนและเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวในฟ้องข้อ ก. ต่อไปจนแล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8ได้ร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ระงับการกระทำดังกล่าวในฟ้องข้อ ก.และ ข. นับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2527 จนกระทั่งถึงวันฟ้องคิดเป็น 880 วัน และยังคงฝ่าฝืนต่อไป
ง. ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2527 หลังจากที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ระงับการกระทำดังกล่าวตามฟ้องข้อ ก. ได้พิจารณาเห็นว่า การก่อสร้างอาคารในส่วนปกคลุมที่ว่างหลังอาคารดังกล่าวให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตของจำเลยที่ 1ถึงที่ 8 ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้ จึงได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 รื้อถอนอาคารนั้นภายใน 30 วัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8ได้รับคำสั่งดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม2527 แต่ก็มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และฝ่าฝืนกฎหมายตลอดมานับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2527 จนกระทั่งถึงวันฟ้องคิดเป็นเวลา 880 วัน และยังคงฝ่าฝืนตลอดมา
จ. ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2527 หลังจากที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ระงับการกระทำการก่อสร้างดังกล่าวตามฟ้องข้อ ก. แล้ว ได้พิจารณาเห็นว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องข้อ ข. และการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตบางส่วนคือการดัดแปลงต่อเติมอาคารตึกแถวเป็น3 ชั้น ยังสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จึงได้มีคำสั่งให้แก้ไขอาคารนั้นภายในกำหนด 30 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ได้รับคำสั่งดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2527 แต่ก็มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและฝ่าฝืนกฎหมายตลอดมา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 22, 31, 40, 42, 43, 65, 67, 69, 70,71, 72, 79, 80 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2522 ข้อ 30, 76ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้สั่งปรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 9 เป็นรายวันตามกฎหมายตามฟ้องข้อ ก. ค. และ ง.นับตั้งแต่วันฝ่าฝืนคำสั่งจนถึงวันฟ้องและนับจากวันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7ถึงที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 21, 22, 31, 40, 42, 43, 65, 67, 69, 70 ประกอบด้วยมาตรา 71, 72 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2522 ข้อ 30, 76 ในข้อหาความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามฟ้องโจทก์ข้อ ก. และในข้อหาความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคาร ส่วนที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตลอดจนคำสั่งให้แก้ไขอาคารส่วนที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ที่ 8 ตามฟ้องโจทก์ข้อ ค. ข้อ ง. และ ข้อ จ. เป็นความผิดสืบเนื่องเชื่อมโยงซ้ำซ้อนกับข้อหาความผิดตามฟ้องข้อ ก. จึงเป็นกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักในข้อหาความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลนและรายการประกอบแบบที่ได้รับอนุญาตตามฟ้องข้อ ก.ตามมาตรา 22, 31, 65, 69 และ 71 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 สำหรับจำเลยที่ 1 ปรับ 100,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526ถึงวันฟ้องระยะหนึ่งรวม 1,395 วัน เป็นเงิน 13,950,000 บาทและปรับวันละ 10,000 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 8 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ100,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 10,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันฟ้องระยะหนึ่งรวม1,795 วัน เป็นเงินคนละ 13,950,000 บาท และปรับวันละ 10,000 บาทตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับจำเลยที่ 9 จำคุก 6 เดือน และปรับ 40,000 บาทและปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่10 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันฟ้องระยะหนึ่งรวม 1,395 วัน เป็นเงิน6,975,000 บาท และปรับวันละ 5,000 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง และในข้อหาความผิดฐานร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องโจทก์ ข้อ ข. อีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 1 ปรับ40,000 บาท และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับจำเลยที่ 7 ถึงที่ 8 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 40,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 9 จำคุก 6เดือน และปรับ 200,000 บาท รวมแล้วปรับจำเลยที่ 1 จำนวน14,090,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 10,000 บาทตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับที่ 7 ถึงที่ 8จำคุกคนละ 12 เดือน และปรับคนละ 14,090,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง จำเลยที่ 9 จำคุก12 เดือน และปรับ 7,035,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 6 ให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและทางพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบรับเข้ามาซึ่งเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่มาก นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 50,000 บาทและปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอีกวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2527 จนกว่าจะได้รื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท และปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอีกวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26มกราคม 2527 จนกว่าจะรื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ปรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนคนละวันละ 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2527 จนกว่าจะรื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง และปรับจำเลยที่ 9 ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนวันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2527จนกว่าจะรื้อถอนหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องข้อ ข. เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารพาณิชยกรรม และพักอาศัยเป็นตึกแถว2 ชั้น มีดาดฟ้า จำนวน 84 ห้อง กำหนดให้ก่อสร้างเสร็จภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2527 โดยมีจำเลยที่ 9 กับพวกเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ก่อนใบอนุญาตหมดอายุประมาณ 15 วัน เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดุสิต ได้ไปตรวจสถานที่ก่อสร้าง ปรากฏว่าได้มีการปลูกสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตโดยปลูกสร้างอาคารแถวเอ 8 ห้อง เป็น 3 ชั้น และไม่มีชั้นลอย อาคารแถวดีสร้างเกินที่ได้รับอนุญาต 2 ห้อง และในห้องที่ 7 ที่ 8 มีการก่อสร้างเป็น 3 ชั้น และต่อเติมทับที่ว่างทางเดินหลังอาคารส่วนอาคารแถวซีและอียังไม่ได้ก่อสร้าง จึงสั่งให้จำเลยที่ 1แก้ไขให้ถูกต้องและให้ไปต่อใบอนุญาต ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2527เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดุสิต ได้มาตรวจอีกครั้งพบว่าไม่มีการแก้ไขอาคารส่วนที่ก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนและไม่ได้ต่อใบอนุญาตซึ่งหมดอายุแล้ว แต่ยังคงมีการก่อสร้างอาคารต่อไปอีก ผู้อำนวยการเขตดุสิตจึงได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 30 วัน จำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งแล้ว แต่จำเลยที่ 1 กับพวกเพิกเฉยและยังคงก่อสร้างอาคารต่อจนแล้วเสร็จมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 กับพวกปลูกสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุและเมื่อใบอนุญาตหมดอายุแล้วยังคงทำการปลูกสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจนกระทั่งก่อสร้างเสร็จดังนี้ จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือสองกรรม เห็นว่า โจทก์ฟ้องและนำสืบฟังได้ว่าเมื่อระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์2527 ซึ่งอยู่ในอายุใบอนุญาตก่อสร้างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 กับพวกอีก 1 คน ได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยดังกล่าวให้ผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้แก้ไขรื้อถอนและสั่งให้ระงับการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามดังนั้นการที่จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการกระทำความผิดสำเร็จไปแล้วกรรมหนึ่งและเมื่อครบกำหนดในใบอนุญาตให้ก่อสร้างซึ่งให้แล้วเสร็จเป็นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2527 แล้ว จำเลยไม่ต่อใบอนุญาตก่อสร้าง แต่ยังคงก่อสร้างต่อไปอีก อันเป็นการก่อสร้างในขณะที่ใบอนุญาตให้ก่อสร้างหมดอายุ จึงเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21, 65, 69 และ 71 อีกกรรมหนึ่งต่างไปจากกรรมแรกที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าเป็นความผิดกรรมเดียวกันไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7ที่ 8 และที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21, 65, 69 และ 71 ด้วยอีกกรรมหนึ่ง ลงโทษจำเลยที่ 1ปรับ 40,000 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 40,000 บาท จำเลยที่ 9จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำเลยที่ 1 ปรับ20,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 3 เดือน ปรับ 200,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์