คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำให้การของจำเลยที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกค่าสมนาคุณตอบแทนคืนเมื่อเกิน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการเบิกเงินของจำเลยนั้น เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองแล้ว คำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์จ่ายเงินค่าสมนาคุณตอบแทนให้แก่จำเลยรับไปโดย ผิดหลง โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินที่รับไปส่งคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินให้โจทก์โดยมิได้บรรยายมาในฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยได้อันเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 กรณีจึงเป็นเรื่องฟ้องให้คืนเงินฐานลาภมิควรได้ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 419

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นข้าราชการประจำฝ่ายปริยัติปกรณ์สังกัดกองศาสนศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ มีหน้าที่ผลิตตำราเอกสาร สิ่งพิมพ์และโสตทัศนูปกรณ์ เกี่ยวกับการศึกษาของสงฆ์และการจริยศึกษา ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2527 ถึงวันที่30 กันยายน 2528 โจทก์โดยนายมงคล ศรีไพรวรรณ อธิบดีในขณะนั้นได้อนุมัติโครงการซึ่งอยู่ในแผนงานประจำปีงบประมาณ 2528คือโครงการจัดสื่อการเรียนการสอนธรรม-บาลี มีเป้าหมายส่วนหนึ่งคือจัดพิมพ์หนังสือปัญหาและเฉลยบาลีสนามหลวง นำออกเผยแพร่ แนวทางในการดำเนินงานนั้นให้พิจารณาหาผู้ทรงคุณวุฒิและมอบให้รวบรวมเรียบเรียงโดยกำหนดค่าสมนาคุณผู้รวบรวมเรียบเรียงต้นฉบับหนังสือทั้งหมดตามโครงการไว้ในวงเงิน 135,000 บาท โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้หนึ่ง มีหน้าที่รวบรวมเรียบเรียงหนังสือตามโครงการดังกล่าว จำเลยกับพวกได้รวบรวมเรียบเรียงต้นฉบับหนังสือปัญหาและเฉลยบาลี สนามหลวง ป.ธ.1-2และ ป.ธ.3 พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2528 หนังสือปัญหาและเฉลยบาลีสนามหลวงป.ธ.4-5 พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2528 หนังสือปัญหาและเฉลยบาลีสนามหลวงป.ธ.8 พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2528 ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2528โจทก์จ่ายเงินค่าสมนาคุณให้แก่จำเลยในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเป็นจำนวน23,120 บาท เมื่อพนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบการจ่ายเงินและทักท้วงการจ่ายเงินค่าสมนาคุณที่จ่ายให้แก่จำเลยว่า ลักษณะของงานเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ การจ่ายเงินค่าสมนาคุณแก่ผู้ทรงคุณวุฒิตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0502/61113ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 นั้น ผู้ทรงคุณวุฒิต้องมิใช่ข้าราชการในสังกัดของโจทก์ ฉะนั้นการที่โจทก์จ่ายเงินตอบแทนให้แก่จำเลยจึงไม่ชอบและเป็นการจ่ายโดยผิดหลง โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินดังกล่าวส่งคืนแก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 23,120 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการเบิกเงินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 23,120 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกค่าสมนาคุณตอบแทนคืนเมื่อเกิน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการเบิกเงินของจำเลย จำเลยไม่ได้ให้การว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ซึ่งมีอายุความ 1 ปี จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งและไม่มีเหตุแห่งการนั้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกเรื่องอายุความฐานลาภมิควรได้มาเป็นเหตุยกฟ้องนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองแล้ว ส่วนอายุความที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้นั้นจะต้องด้วยบทกฎหมายลักษณะใดเป็นหน้าที่ของศาลที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเอง ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินสมนาคุณคืนจากจำเลยเป็นการฟ้องเรียกเงินคืนในฐานลาภมิควรได้มีอายุความ 1 ปีนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า การฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นการฟ้องติดตามเอาเงินคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336หาใช่เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ซึ่งมีอายุความตามมาตรา 419 ไม่ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าตามฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์จ่ายเงินค่าสมนาคุณตอบแทนให้แก่จำเลยรับไปโดยผิดหลง โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินที่รับไปส่งคืนแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินให้โจทก์โดยมิได้บรรยายมาในฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยได้อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 1336 กรณีจึงเป็นเรื่องฟ้องให้คืนเงินฐานลาภมิควรได้ดังนั้นจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนตามกฎหมายดังกล่าวฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share