คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ขับรถยนต์ตามคำสั่งของบริษัทจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2สั่งให้จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จากที่ทำการของจำเลยที่ 1ไปส่งยังที่ทำการของจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปขายเดือนละประมาณ 10 คันคันละเที่ยว จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างให้เที่ยวละ 550 บาท ระหว่างปฏิบัติงานอยู่กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จะไปขับรถยนต์ที่อื่นไม่ได้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ทำการงานให้แก่จำเลยที่ 2 และอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นรายเที่ยว ก็เป็นเพียงวิธีการคำนวณสินจ้างและกำหนดการจ่ายเงิน เมื่องานที่ทำแล้วเสร็จเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 เมื่อจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างและได้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในความเสียหายที่จำเลยที่ 3 ก่อขึ้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-0145 นครปฐม ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-8327ประจวบคีรีขันธ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะสีฟ้ายี่ห้อนิสสันคันหมายเลขเครื่องยนต์ 153639-เอสดี 23 จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3ขับรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 คันดังกล่าวตามคำสั่งและในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ขับชนกับรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์ที่ 1 แล้วรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ขับเสียหลักหันหัวพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ทำให้รถยนต์ของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 220,136 บาท และ 59,500บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 3 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเหมาขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากที่ทำการของจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปส่งให้จำเลยที่ 2ที่สาขาประจวบคีรีขันธ์โดยจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างทางที่ขับนำไปส่งเองทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงไม่ต้องรับผิด ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ในสำนวนแรกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระเงินจำนวน 218,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ยกฟ้องจำเลยที่ 1สำนวนหลังให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 32,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ยกฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสองสำนวนศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในความเสียหายที่จำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามคำของนายบุญทิ้ง พร้าสอาด พยานจำเลยที่ 2 เองว่า จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ขับรถตามคำสั่งของจำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ขับรถของจำเลยที่ 1 จากที่ทำการของจำเลยที่ 1 ไปยังที่ทำการของจำเลยที่ 2 เดือนละประมาณ 10 คันคันละเที่ยว จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เที่ยวละ 550 บาทระหว่างจำเลยที่ 3 ปฏิบัติงานอยู่กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จะไปขับรถที่อื่นไม่ได้ เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำการงานให้แก่จำเลยที่ 2 และอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2ผู้เป็นนายจ้าง ส่วนการที่จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างให้แก่จำเลยที่ 3เป็นรายเที่ยวนั้น ก็เป็นเพียงวิธีการคำนวณค่าจ้าง และกำหนดการจ่ายสินจ้างเมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงต้องด้วยลักษณะการจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ข้อที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นเรื่องจ้างทำของไม่ใช่จ้างแรงงานโดยอ้างใบสมัครรับจ้างเหมาขับรถยนต์ สัญญาจ้างเหมาขนส่ง และหนังสือค้ำประกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.ล.1 ป.ล.2 และป.ล.4 ตามลำดับ นั้น เห็นว่า แม้เอกสารดังกล่าวจะระบุว่าจำเลยที่ 2 จ้างเหมาจำเลยที่ 3 ทำงาน ซึ่งมีลักษณะเป็นการจ้างทำของก็ตาม แต่เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ปฏิบัติต่อกันดังกล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องจ้างแรงงานเสียแล้ว เอกสารที่จำเลยที่ 2อ้างมาดังกล่าวย่อมไม่เป็นประโยชน์ที่จะนำมาหักล้างข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวได้ เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างและได้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในความเสียหายที่จำเลยที่ 3 ก่อขึ้นต่อโจทก์ทั้งสอง”
พิพากษายืน

Share