คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาลักทรัพย์แก่จำเลยเนื่องจากได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองวีดีโอเทปของผู้เสียหายที่ถูกลักไป การที่จำเลยมีวีดีโอเทปของผู้เสียหายซึ่งถูกลักไปไว้ในครอบครองจึงอาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้สอบสวนถึงการกระทำนั้นของจำเลยแล้วทั้งการแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ แม้เดิมจะตั้งข้อหาหนึ่งแต่เมื่อสอบสวนไปแล้ว ปรากฏว่าการกระทำ ของจำเลยเป็นความผิดฐานอื่นด้วย ก็เรียกว่าได้มีการสอบสวนในความผิดดังกล่าวด้วยแล้ว ดังนั้นแม้ชั้นแรกพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาลักทรัพย์แก่จำเลยแต่เมื่อสอบสวนพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นความผิดฐานรับของโจรและฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรด้วย ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335,357 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินจำนวน 7,500 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินจำนวน 7,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานรับของโจรซึ่งจำเลยอุทธรณ์ ไม่ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนได้มีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ได้ความว่าภายหลังจากวีดีโอเทปของผู้เสียหายได้หายจากบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายไปแล้ว ทางสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจทราบว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองวีดีโอเทปของผู้เสียหายดังกล่าวเหตุที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาลักทรัพย์แก่จำเลยก็เนื่องจากได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองวีดีโอเทปของผู้เสียหายที่ถูกลักไป การที่จำเลยมีวีดีโอเทปของผู้เสียหายซึ่งถูกลักไปดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงอาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้สอบสวนถึงการกระทำนั้นของจำเลยแล้ว ทั้งการแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 นั้น หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่แม้เดิมจะตั้งข้อหาหนึ่งแต่เมื่อสอบสวนไปแล้ว ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานอื่นด้วยก็เรียกว่าได้มีการสอบสวนในความผิดดังกล่าวด้วยแล้ว ดังนั้นกรณีของจำเลยแม้ชั้นแรกพนักงานสอบสวนจะตั้งข้อหาลักทรัพย์แก่จำเลย แต่เมื่อสอบสวนพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้วโจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นความผิดฐานรับของโจรและฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรด้วย ถือว่าได้มีการสอบสวนความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรหรือไม่ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share