คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำผู้เสียหายที่ถูกจำเลยทั้งสามฉ้อโกงแตกต่างกับการสอบปากคำในคดีทั่ว ๆ ไป เนื่องจากผู้เสียหายมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายต่างให้การถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นทำนองเดียวกัน พนักงานสอบสวนจึงทำแบบพิมพ์ในส่วนที่เหมือนกันไว้ เว้นช่องว่างในส่วนที่เกี่ยวกับชื่อของผู้เสียหาย จำนวนเงินและวันเวลา ซึ่งเป็นส่วนรายละเอียดของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะไว้ เพื่อกรอกรายละเอียดในตอนสอบปากคำผู้เสียหายแต่ละคน เช่นนี้ หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายมาให้ถ้อยคำหลายรายและพนักงานสอบสวนแจกแบบพิมพ์คำให้การดังกล่าวให้แต่ละคนไปอ่านดูก่อนแล้วเรียกเข้ามากรอกข้อความทีละคน พนักงานสอบสวนก็ได้สอบถามผู้เสียหายผู้ให้ถ้อยคำว่า มีอะไรผิดบ้าง ถ้าไม่มีผิดก็ให้ลงชื่อ ถ้าผิดพลาดก็ขีดฆ่าแก้ไขและลงลายมือชื่อกำกับ เช่นนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าคำให้การของผู้เสียหายไม่ตรงกับปากคำที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน หรือปากคำนั้นผู้เสียหายไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจหรือด้วยเหตุอันมิชอบอย่างอื่น จะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายจัดหางานให้คนหางานซึ่งประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศให้แก่นายจ้างในต่างประเทศ โดยเรียกและรับเงินค่าบริการเป็นค่าตอบแทนจากคนหางานดังกล่าว ทั้งที่จำเลยทั้งสามต่างมิได้รับใบอนุญาตจัดหางานโดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันหลอกลวงประชาชนโดยทุจริตด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนทั้งทางวาจาและการประกาศโฆษณาว่าจำเลยทั้งสามต่างได้รับอนุญาตให้จัดหางานตามกฎหมายสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศฟิจิได้ให้ประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศทั้งสองไปติดต่อสมัครได้ที่บริษัทจำเลยที่ 3 ในซอยร่วมศิริมิตร เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ทำการของจำเลยทั้งสาม แล้วจำเลยทั้งสามจะส่งประชาชนผู้สมัครเดินทางไปทำงานยังประเทศทั้งสองอันเป็นความเท็จความจริงแล้วจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดหางานให้คนงานตามกฎหมายและไม่สามารถที่จะส่งคนไปทำงานในประเทศทั้งสองดังกล่าวได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยทั้งสาม เป็นเหตุให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงซึ่งรวมทั้งนายจำลอง แก้วเหม กับพวกรวม 57 คนผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงพากันไปสมัครและเสียค่าบริการต่าง ๆ ค่าเดินทาง ตามจำนวนที่จำเลยทั้งสามเรียกร้องให้แก่จำเลยทั้งสามรับไป เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากนายจำลองและพวกรวม 57 คน ผู้เสียหาย เป็นเงิน 808,000 บาทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 808,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่6850/2529 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 3ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3โดยให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343 วรรคแรก วางโทษจำคุก 3 ปีให้จำเลยที่ 2 ร่วมคืนเงิน 808,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะร้อยตำรวจเอกสินมนู พุทธิกุลพนักงานสอบสวนเบิกความรับว่า เมื่อสอบปากคำผู้เสียหายประมาณ 10 รายปรากฎว่าต่าง ให้การถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามในทำนองเดียวกันพนักงานสอบสวนจึงทำแบบพิมพ์คำให้การเป็นอย่างเดียวกันขึ้นมาเตรียมไว้ โดยเว้นชื่อผู้เสียหายที่จะมาแจ้งความเป็นพยานไว้เว้นจำนวนเงินและวันเวลาไว้ เมื่อใครมาแจ้งความก็ทำการสอบสวนโดยนำแบบพิมพ์นั้นมากรอกชื่อ วันเวลา และจำนวนเงินที่จ่ายและได้รับคืนแล้วถามรายละเอียดว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องก็ให้ลงชื่อไป หากไม่ถูกต้องในข้อความใดก็ขีดฆ่าทิ้งและลงชื่อกำกับบางวันมีผู้มาให้ถ้อยคำหลายรายก็จะแจกแบบพิมพ์คำให้การดังกล่าวให้แต่ละคนอ่านดูก่อน แล้วเรียกเข้ามาทีละคนถามว่ามีอะไรผิดบ้างถ้าไม่ผิดก็ให้ลงชื่อ ถ้าผิดพลาดก็ขีดฆ่าแก้ไขและลงชื่อกำกับซึ่งแตกต่างกับการสอบปากคำในคดีอื่นทั่ว ๆ ไป จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้วิธีการสอบปากคำผู้เสียหายคดีนี้พนักงานสอบสวนจะกระทำแตกต่างกับการสอบปากคำในคดีอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปเพราะผู้เสียหายคดีนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายต่างให้การถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นทำนองเดียวกันพนักงานสอบสวนจึงทำแบบพิมพ์ในส่วนที่เหมือนกันไว้ เว้นช่องว่างในส่วนที่เกี่ยวกับชื่อของผู้เสียหาย จำนวนเงิน และวันเวลาซึ่งเป็นส่วนรายละเอียดของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะไว้ เพื่อกรอกรายละเอียดในตอนสอบปากคำผู้เสียหายแต่ละคน เช่นนี้ ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายมาให้ถ้อยคำหลายรายและพนักงานสอบสวนแจกแบบพิมพ์คำให้การดังกล่าวให้แต่ละคนไปอ่านดูก่อนแล้วเรียกเข้ามากรอกข้อความทีละคน พนักงานสอบสวนก็ยืนยันว่าได้สอบถามผู้เสียหายผู้ให้ถ้อยคำว่า มีอะไรผิดบ้าง ถ้าไม่ผิดก็ให้ลงชื่อ ถ้าผิดพลาดก็ขีดฆ่าแก้ไขและลงลายมือชื่อกำกับ เช่นนี้ก็ไม่ปรากฏว่าคำให้การของผู้เสียหายไม่ตรงกับปากคำที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน หรือปากคำนั้นผู้เสียหายไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจหรือด้วยเหตุอันมิชอบอย่างอื่น จะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า วางโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 4,000 บาทให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share