แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยช่วยจำหน่ายหรือช่วยพาเอาไปเสียซึ่งโคของผู้เสียหายอันเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรณีจะเป็นความผิดก็เข้าลักษณะฐานรับของโจร แม้จำเลยร่วมกับผู้อื่นยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ก็ไม่แสดงว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักโคของผู้เสียหายไป โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลักทรัพย์ ถือว่ายกฟ้องข้อหาฐานรับของโจร เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาฐานรับของโจรย่อมยุติ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องฐานลักทรัพย์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์แต่มีความผิดฐานรับของโจร และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานรับของโจรจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา จำเลยทั้งสองมีสิทธิฎีกาขอให้ยกฟ้องฐานรับของโจรได้ และศาลฎีกาไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เพราะศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาลักทรัพย์แล้ว ศาลฎีกาย่อมพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในข้อหาฐานรับของโจร.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนกันยายน 2530 ถึงวันที่ 15ตุลาคม 2530 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด มีคนร้ายร่วมกันลักเอาโค 4 ตัวของนายคำปัน กลิ่นส่ง ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2530 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองกับพวกอีกสองคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้นำโค 3 ตัว ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าว ไปขายให้แก่ผู้มีชื่อทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปหรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันรับเอาไว้ ช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่ายซึ่งทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายดังกล่าวจากคนร้ายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 336 ทวิ, 357, 83พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2530 มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาโค 4 ตัวราคา 16,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษของจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 437/2531 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 477/2531 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม อันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2530 มาตรา 3 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 7 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 437/2531ของศาลชั้นต้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวได้พิพากษาแล้ว จึงไม่นับโทษต่อให้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ แต่มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา357, 83 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในเบื้องต้นจะได้วินิจฉัยฎีกาโจทก์ก่อนว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับโคของผู้เสียหายและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายย่อมฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักโคของผู้เสียหายนั้น เห็นว่า ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาคงได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหายและนายอ้วนบิดาผู้เสียหายว่า หลังจากโคของผู้เสียหายถูกคนร้ายลักไปแล้วนายคำและนายส่วยได้มาติดต่อจำเลยทั้งสองให้นำรถยนต์มาบรรทุกโคของผู้เสียหายไปขายให้แก่นายตุ่น เช่นนี้ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองช่วยจำหน่ายหรือช่วยพาเอาไปเสียซึ่งโคของผู้เสียหายอันเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น การกระทำดังกล่าวถ้าจะเป็นความผิดก็จะเข้าลักษณะรับของโจรเท่านั้น หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับนายคำและนายส่วยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงเพียงแค่นี้ก็ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ได้ชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเป็นคนร้ายลักโคดังกล่าวของผู้เสียหายไป ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาจำเลยทั้งสองที่ขอให้ยกฟ้องโจทก์นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลักทรัพย์จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ข้อหาฐานรับของโจร เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์กรณีย่อมต้องถือว่าข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ยุติไปแล้ว จำเลยอุทธรณ์ขอให้พิพากษายกฟ้องข้อหาฐานลักทรัพย์ ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะวินิจฉัยก็คือ จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์จึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานรับของโจร และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานรับของโจรซึ่งยุติไปแล้วนั้นจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาจำเลยทั้งสองมีสิทธิฎีกาขอให้ยกฟ้องในข้อหาฐานรับของโจรได้ และศาลฎีกาไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานลักทรัพย์แล้ว ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในข้อหาฐานรับของโจรได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาฐานรับของโจร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.