คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2647/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เป็นบทบังคับว่าจำเลยจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่จำเลยจะต้องให้เหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธนั้น โดยเฉพาะการปฏิเสธฟ้องของโจทก์ไม่ว่าปฏิเสธทั้งสิ้นหรือบางส่วนจำเลยจำเป็นจะต้องให้เหตุแห่งการปฏิเสธไว้ เท่ากับจำเลยจะต้องกล่าวอ้างข้อเท็จจริงไว้ในคำให้การเพื่อตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทมิฉะนั้นจำเลยจะไม่มีประเด็นอะไรให้นำสืบตามหน้าที่ของจำเลยได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คโดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้สลักหลัง มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์นำไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามเช็ค จำเลยทั้งสองให้การว่าเช็คตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ เช็คตกไปอยู่ในครอบครองของโจทก์โดยไม่สุจริต โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยใช้สิทธิไม่สุจริตและโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย คำให้การของจำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์แต่เพียงในสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญว่าเช็คตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ ตกไปอยู่ในครอบครองของโจทก์โดยไม่สุจริต และโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยไม่สุจริต แม้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ให้เหตุแห่งการปฏิเสธไว้อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้ออกเช็ค จำเลยที่ 2 ไม่ได้สลักหลังเช็คและธนาคารผู้จ่ายไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คหรือไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิเสธในข้อเหล่านี้ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คจำเลยที่ 2 สลักหลังเช็ค เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องให้คู่ความนำสืบข้อเท็จจริงอื่นใดที่ไม่จำเป็นแก่คดีอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขากาฬสินธุ์ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2531 สั่งจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท และ 60,000 บาท ตามลำดับ โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้สลักหลัง มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินยืม เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับไม่มีมูลหนี้เพราะตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์โดยไม่สุจริต และโจทก์ทราบดีว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้จำเลยทั้งสองจะให้การปฏิเสธ โดยไม่ให้เหตุแห่งการปฏิเสธจำเลยทั้งสองก็มีสิทธิจะนำพยานเข้าสืบตามข้อปฏิเสธลอยของจำเลยได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า”ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” เป็นการบังคับว่าจำเลยจะยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่จำเลยจะต้องให้เหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธนั้นโดยเฉพาะการปฏิเสธฟ้องของโจทก์ไม่ว่าปฏิเสธทั้งสิ้นหรือบางส่วนจำเลยจำเป็นจะต้องให้เหตุแห่งการปฏิเสธไว้ เท่ากับจำเลยจะต้องกล่าวอ้างข้อเท็จจริงไว้ในคำให้การเพื่อตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทมิฉะนั้นจำเลยจะไม่มีประเด็นอะไรให้นำสืบตามหน้าที่ของจำเลยได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นประเด็นว่าจำเลยที่ 1ออกเช็ค 2 ฉบับสั่งจ่ายเงินตามฟ้อง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์นำไปขึ้นเงินธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 2 ฉบับ เพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามเช็คจำเลยทั้งสองให้การว่าเช็คทั้ง 2 ฉบับตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ เช็คทั้ง2 ฉบับตกไปอยู่ในครอบครองของโจทก์โดยไม่สุจริต โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยใช้สิทธิไม่สุจริตและโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จะเห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์แต่เพียงในสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญว่าเช็คตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ ตกไปอยู่ในครอบครองของโจทก์โดยไม่สุจริต และ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยไม่สุจริต แม้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ให้เหตุแห่งการปฏิเสธไว้ อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ออกเช็ค จำเลยที่ 2 ไม่ได้สลักหลังเช็คและธนาคารผู้สั่งจ่ายไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คหรือไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิเสธในข้อเหล่านี้ ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็ค จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็ค เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังนี้แล้ว ไม่จำต้องให้คู่ความนำสืบข้อเท็จจริงอื่นใดที่ไม่จำเป็นแก่คดีอีก เมื่อปรากฏว่าเช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค เมื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์และจำเลยนำพยานเข้าสืบอีกต่อไปและให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share