แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินตาม น.ส.3 รายนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เคยนำไปยื่นเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยในคดีอาญา แล้วผิดสัญญาประกันศาลสั่งปรับและยึดที่ดินตาม น.ส.3 ดังกล่าวเพื่อนำออกขายทอดตลาด ต่อมามีผู้ทุจริตลักลอบนำเอา น.ส.3 ฉบับดังกล่าวออกมาในระหว่างดำเนินการเพื่อจะขายทอดตลาด ไปให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำไปเป็นหลักทรัพย์ขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ 1(ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) ในอีกคดีหนึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิที่จะไปเกี่ยวข้องกับ น.ส.3 ฉบับนี้อีกแต่ก็ยังฝ่าฝืนนำเอา น.ส.3 ฉบับนี้มายื่นเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหาที่ 1(ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) ต่อศาลอีก โดยอ้างว่าไม่มีภาระผูกพันใด ๆ จนกระทั่งศาลหลงเชื่อและได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ 1(ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) การกระทำดังกล่าวถือว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31(1).
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2ผู้รับมอบอำนาจยื่นหลักทรัพย์ที่ดินตาม น.ส.3 เล่ม 4 หน้า 73สารบบเล่ม 30 หน้า 97 ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ซึ่งเป็นของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1และเงินสด 1,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ผ.63/2532 ระหว่างพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ดผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 2 คนผู้ต้องหา ซึ่งผู้ร้องขอฝากขังผู้ต้องหาดังกล่าวข้อหาความผิดร่วมกันฉ้อโกง เพื่อขอประกันผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2532 โดยกำหนดราคาค่าประกัน 400,000 บาท ต่อมาทราบว่า น.ส.3 ฉบับดังกล่าวได้สูญหายไป ขณะเป็นหลักประกันตัวจำเลยอยู่ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีในคดีหมายเลขแดงที่ 2973/2528 ระหว่างนายหลุงฉ่อเซี่ยงฉิน โจทก์ นายเซ็งฮั้ว แซ่ล้อ จำเลย โดยสูญหายไปก่อนที่จะนำมาเป็นหลักประกันคดีนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามดังกล่าวน่าจะเข้าลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และดำเนินการไต่สวนเป็นคดีนี้
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบมาตรา 33 ลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือนยกข้อกล่าวหาสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินตาม น.ส.3 เล่มที่ 4 หน้า 73 สารบบเล่ม 30 หน้า 97 ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เคยนำไปยื่นเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่2973/2528 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ซึ่งเป็นผู้ประกันผิดสัญญาประกัน ศาลจังหวัดกาญจนบุรีจึงสั่งปรับผู้ประกันและยึดที่ดินตาม น.ส.3 ดังกล่าวเพื่อนำออกขายทอดตลาด ขณะที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อจะขายทอดตลาด ปรากฏว่าได้มีผู้ทุจริตลักลอบนำเอา น.ส.3 ฉบับดังกล่าวไปจากศาลจังหวัดกาญจนบุรี หลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้นำ น.ส.3 ฉบับนั้นมายื่นเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหาที่ 1 (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3)ต่อศาลชั้นต้นอีก ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ตอนหนึ่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เคยนำ น.ส.3ฉบับนี้ไปยื่นเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยในคดีอาญาที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้วโดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ขอให้ช่วยประกัน ต่อมาจำเลยหลบหนีไม่สามารถนำตัวจำเลยมาส่งมอบต่อศาลได้ศาลจังหวัดกาญจนบุรีจึงปรับผู้ประกันและได้ยึดที่ดินตาม น.ส.3ดังกล่าว เพื่อนำออกขายทอดตลาด หลังจากนั้น 1 ปีเศษผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้นำ น.ส.3 ฉบับนั้นมาให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1นำไปเป็นหลักทรัพย์ขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ 1 (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3)ต่อศาลชั้นต้น ทีแรกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะไม่ยอมมายื่นขอประกันอีกเนื่องจากเห็นว่า น.ส.3 ฉบับนี้ถูกศาลจังหวัดกาญจนบุรียึดไว้ยังไม่เสร็จเรื่อง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 บอกว่าไม่เป็นไร ได้จัดการนำออกมาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงยอมนำ น.ส.3 ดังกล่าวมายื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ 1 (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) ต่อศาลชั้นต้นตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ขอร้องจากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิที่จะไปเกี่ยวข้องกับ น.ส.3 ฉบับนี้อีก แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ก็ยังฝ่าฝืนนำเอา น.ส.3 ฉบับนี้มายื่นเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหาที่ 1 (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) ต่อศาลชั้นต้นอีกโดยอ้างว่าไม่มีภาระผูกพันใด ๆ จนกระทั่งศาลชั้นต้นหลงเชื่อและได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ 1 (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) ชั่วคราวตามคำร้องในวันเดียวกัน การกระทำดังกล่าวถือว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล…”
พิพากษายืน.