คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถบรรทุก ให้จำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งเช่าซื้อรถบรรทุกคันเกิดเหตุ เพื่อให้นำไปประกอบกิจการขนส่งในนามของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้นำรถไปตรวจสภาพ ต่อทะเบียนรถและต่อใบอนุญาตประกอบการขนส่งทุกปี จำเลยที่ 3 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในกิจการขนส่งดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวไปกระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามีภรรยากับจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันและแทนกันดำเนินกิจการรับขนส่งสินค้าและคนโดยสาร และร่วมกันเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารและบรรทุกสินค้าหกล้อ หมายเลขทะเบียน 80-3646 นครปฐม ขณะที่รถยนต์โดยสารสองแถวหมายเลขทะเบียน3ย-6458 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์ที่ 1 นั่งโดยสารจอดรับส่งคนโดยสารอยู่ที่บริเวณปากซอยเสนาสฤษดิ์เดช จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามหลังมาจะมายังจังหวัดนนทบุรี ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ชนท้ายรถยนต์โดยสารสองแถวดังกล่าวกระเด็นไปชนเสาไฟฟ้าข้างทาง ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสพิการและเสียโฉมตลอดชีวิต คิดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท แลทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เสียหายคิดเป็นเงินที่จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดรวม 178,797 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ ค่าเสียหายสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจริงแต่มิได้ครอบครองเพราะได้ให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อไปก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 10,000 บาท ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่เกิน 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 168,401 บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 220,833 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นนี้ฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2523 จำเลยที่ 3 ได้เช่าซื้อรถยนต์สองแถวหกล้อหมายเลขทะเบียน 80-3646 นครปฐม จากจำเลยที่ 4ดังปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ป.ล.2 ต่อมาเมื่อวันที่2 พฤศจิกายน 2524 จำเลยที่ 4 ได้ยื่นขออนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถบรรทุกโดยจะใช้รถทั้งสิ้นจำนวน 333 คัน มีรถที่ให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อไปรวมอยู่ด้วย ดังปรากฏตามเอกสารหมายป.จ.2 จำเลยที่ 3 ได้นำรถที่เช่าซื้อไปรับจ้างบรรทุกสินค้าและผู้โดยสารโดยอาศัยใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้นำรถคันนี้ไปตรวจสภาพกับต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งทุกปี ครั้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2525เวลาประมาณ 7 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ลูกจ้างได้ขับรถคันดังกล่าวกลับจากส่งผู้โดยสารและสินค้าที่คลองเตยแล้วจะไปเข้าคิวรถที่จังหวัดนนทบุรีในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 สามีภรรยาซึ่งเป็นนายจ้าง เมื่อรถแล่นมาถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทตรงเข้าชนท้ายรถยนต์โดยสารสองแถวหมายเลขทะเบียน3ย-6458 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโจทก์ที่ 1 บุตรผู้เยาว์ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยสารอยู่ ในขณะจอดรับส่งผู้โดยสารอยู่ที่บริเวณปากซอยเสนาสฤษดิ์เดช เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 มีว่า จำเลยที่ 4จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 จะได้ให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อรถคันดังกล่าวไปแล้ว แต่เป็นการให้เช่าซื้อไปเพื่อให้จำเลยที่ 3 นำไปประกอบกิจการขนส่งในนามของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้นำรถไปตรวจสภาพ ต่อทะเบียนรถ และต่อใบอนุญาตประกอบการขนส่งทุกปี จำเลยที่ 3 หาได้เช่าซื้อรถไปเพื่อประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 3 เองไม่ เพราะจำเลยที่ 3 มิได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล จึงต้องใช้ชื่อของจำเลยที่ 4 ในการประกอบกิจการดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 4 ให้เช่าซื้อรถดังกล่าวไปแล้วเป็นผู้ขออนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้จำเลยที่ 3 นำไปประกอบการขนส่งในชื่อของจำเลยที่ 4 ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในกิจการขนส่งดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถคันดังกล่าวไปกระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างของตัวแทนได้กระทำไปนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425, 427, 820 ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share