คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงื่อนไขในการประกวดราคาสัญญาก่อสร้างอาคารระบุว่าเมื่อโจทก์ตกลงเลือกผู้เข้าประกวดราคารายใดให้เป็นผู้รับจ้างและนัดให้ไปทำสัญญาแล้ว ผู้ถูกเลือกจะต้องไปทำสัญญาภายในกำหนดหากผู้ถูกเลือกไม่ยอมรับทำสัญญาโจทก์จะริบเงินมัดจำซองประกวดราคาและหากปรากฏว่าโจทก์ต้องจ้างผู้อื่นก่อสร้างแทนแพงกว่าราคาที่เสนอไว้รวมกับเงินประกันที่ยึดไว้แล้ว ผู้เสนอราคายินยอมที่จะชดใช้ราคาในส่วนที่เกินนั้นด้วยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์ตกลงเลือกเป็นผู้เข้าประกวดราคาได้ไม่ยอมไปทำสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ตามที่ยื่นซองประกวดราคาได้ ทำให้โจทก์ต้องจ้าง ช. ก่อสร้างอาคารของโจทก์ในราคาสูงกว่าราคาที่จำเลยที่ 1 ประมูลได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในราคาที่สูงขึ้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่ากำหนดเวลาให้ใช้ดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่ก่อนวันฟ้องกรณีก็ถือว่าโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยแล้ว ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ที่ค้ำประกันจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งโจทก์เรื่องที่โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในระยะเวลาค้ำประกันถึงกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวดราคาแต่จำเลยที่ 3 ก็ยังมีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนในชั้นให้การได้ ปัญหาที่โจทก์ฎีกา โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อมิได้ว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยปัญหานี้ให้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประกาศเรียกประกวดราคางานก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข โรงรถ ถมดิน พร้อมรั้วและลานคอนกรีตที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองประกวดราคาต่อโจทก์เสนอเงินค่าก่อสร้าง 2,840,242.30 บาทโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการประกวดราคา ยอมรับเป็นผู้ชำระเงินค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 143,700 บาทต่อมาโจทก์ได้พิจารณาให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชนะการประกวดราคาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยมาทำสัญญากับโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็มิได้มาลงนามในสัญญาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ และขออายัดเงินประกันซอง จำนวน 143,700 บาท ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์ได้เตือนให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการผิดสัญญาหลายครั้งและให้โอกาสจำเลยที่ 1 มาลงนามในสัญญา แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ครั้นวันที่ 27เมษายน 2522 โจทก์มีหนังสือแจ้งยกเลิกการว่าจ้างไปยังจำเลยที่ 1และขอริบเงินประกันซองจำนวน 143,700 บาท โจทก์ได้จ้างนายเชื้อ คชานุรักษ์ ให้เป็นผู้ทำการก่อสร้างใหม่ในราคา4,290,000 บาท นายเชื้อ คชานุรักษ์ ได้ก่อสร้างเสร็จตามสัญญาโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน 4,290,000 บาท ให้แก่นายเชื้อ คชานุรักษ์ไปเรียบร้อยแล้วโจทก์ได้รับความเสียหายจะต้องจ่ายเงินสูงกว่าจำนวนที่จำเลยที่ 1 เสนอราคา 1,449,757.70 บาท จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวตามสัญญาประกวดราคา จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินจำนวน1,449,757.70 บาท ภายใน 7 วัน นับแต่วันรับหนังสือทวงถาม และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 143,700 บาท ภายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2522จำเลยทั้งสามทราบแล้ว แต่เพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่ง ของเงิน 143,700 บาทถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี 2 เดือนโจทก์ขอคิดเพียง 5 ปี เป็นเงินค่าดอกเบี้ย 53,887.50 บาท รวมเป็นเงิน 197,587.50 บาท และขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7 ครึ่งของต้นเงิน 1,449,757.70 บาท นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2524เป็นต้นไปถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน เป็นเงินค่าดอกเบี้ย353,378.42 บาท รวมเงินต้นแล้วเป็นเงิน 1,803,136.12 บาทขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าประกันซองจำนวน 197,587.50บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีของต้นเงิน 143,700 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,803,136.12 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7 ครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้เสนอราคาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2521 ได้มีการเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 21มิถุนายน 2521 นั้นเอง การเสนอผลการประกวดราคาต่อผู้มีอำนาจอนุมัติและทำการแทนโจทก์ควรจะเสร็จสิ้นแล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน แต่โจทก์ได้ปล่อยให้เวลาล่วงเลยถึง 3 เดือน จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญา คำเสนอของจำเลยที่ 1ได้สิ้นผลแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ไปทำสัญญากับโจทก์ หากจะต้องรับผิดก็ไม่เกินจำนวนเงินที่มัดจำซองในการประกวดราคาเท่านั้น การที่โจทก์จ้างให้นายเชื้อทำการก่อสร้างอาคารของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์ทำความตกลงกับนายเชื้อตามลำพัง โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ เป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์เรียกเอาดอกเบี้ยนับจากวันที่โจทก์อาจจะใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นเวลาเกิน 5 ปีแล้ว สิทธิการเรียกดอกเบี้ยจึงขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ให้กับโจทก์ เพราะตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3ต้องรับผิดต่อโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2521 ถึงวันที่ 20ตุลาคม 2521 เท่านั้น แต่ตามข้อเท็จจริงโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2521ฉะนั้นก่อนวันที่ 25 ธันวาคม 2521 จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาการประกวดราคากับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาความรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันก็ยังไม่เกิด และการที่โจทก์ตกลงผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันไม่ได้ตกลงด้วยจำเลยที่ 3 จึงพ้นความรับผิด ตามสัญญาค้ำประกันโจทก์จะต้องแจ้งการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ทราบก่อนหมดระยะเวลาการค้ำประกัน โจทก์เพียงแต่โทรเลขแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ไปทำสัญญาให้เรียบร้อย จึงขออายัดเงินตามหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ไว้ก่อนเท่านั้น ยังไม่มีการแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวดราคากับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะขออายัดเงินตามโทรเลขเพราะไม่มีการวางหลักทรัพย์ประกันไว้กับโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันกำหนดไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์ในการยื่นซองประกวดราคาเป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับความเสียหายและโจทก์ไม่สามารถเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้แล้วจำเลยที่ 3 จึงจะชำระเงินค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 143,700 บาทแต่โจทก์ยังไม่มีการเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 และการบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการยากแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2522 ถึงวันฟ้องเพราะตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หรือที่ 3 ผิดนัดโจทก์เมื่อใด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน710,060.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามเงื่อนไขในการประกวดราคาดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้เข้าประกวดราคา ซึ่งในที่นี้หมายถึงจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องจ้างผู้อื่นทำงานนี้ในราคาสูงกว่าที่ผู้เข้าประกวดราคาเสนอราคา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมไปทำสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ตามที่ยื่นซองประกวดราคาได้ ทำให้โจทก์ต้องว่าจ้างนายเชื้อก่อสร้างอาคารของโจทก์ในราคา 4,290,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่จำเลยที่ 1 ประมูลได้เป็นเงิน 1,449,757.70 บาทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1131/2520 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ นายฉลอง สุวรรณมงคล โดยนายวนิช สุวรรณมงคลผู้รับมรดกความ จำเลย การที่จำเลยที่ 1ไม่ได้ไปทำสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ตามที่ประกวดราคาได้แล้ว โจทก์ได้เรียกประกวดราคาใหม่ แต่เมื่อถึงกำหนดวันนัดไม่มีผู้มายื่นซองประกวดราคาแม้แต่คนเดียว โจทก์จึงได้ดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าในการจ้างโดยวิธีพิเศษนี้ มีผู้ยื่นเสนอราคารวม 5 ราย นายเชื้อเป็นผู้เสนอราคาก่อสร้างต่ำสุดเป็นเงิน 4,290,000 บาท แม้คณะกรรมการเปิดซองประกวดราคาจะมีความเห็นว่า ราคาดังกล่าวสูงไปสมควรยกเลิกการสืบราคาก็ตาม แต่ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยก็ได้อนุมัติให้ว่าจ้างนายเชื้อให้เป็นผู้ทำการก่อสร้างในราคาดังกล่าวแล้วแสดงว่าโจทก์ลงความเห็นว่า ราคาก่อสร้างที่นายเชื้อเสนอไปเป็นราคาที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นแล้ว ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่าการว่าจ้างนายเชื้อของโจทก์กระทำไปโดยมีเจตนาไม่สุจริต หรือประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ว่าจ้างนายเชื้อก่อสร้างอาคารของโจทก์ในราคาที่สูงกว่าจำเลยที่ 1 ประกวดราคาได้ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในส่วนของราคาก่อสร้างที่สูงขึ้นนั้นสำหรับปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในค่าดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าเสียหายดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใดนั้นปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13สิงหาคม 2527) จนกว่าจะชำระเสร็จ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า กำหนดเวลาให้ใช้ดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฎีกาว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2524 กรณีถือว่าโจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยแล้ว โจทก์จึงควรได้รับชดใช้ค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น ปัญหาว่าเมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ที่ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ที่โจทก์ไม่ได้บอกเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวดราคาให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในระยะเวลาที่ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นให้การต่อสู้คดีได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ภายหลังเมื่อถูกโจทก์ฟ้องคดีแล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิให้การต่อสู้คดีโดยยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นข้อเถียงเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในกำหนดระยะเวลาที่ค้ำประกันว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกวดราคาต่อโจทก์ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 3รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้มีโทรเลขเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2521 อันเป็นเวลาภายในกำหนดอายุการค้ำประกันแจ้งการอายัดเงินค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังไม่ไปทำสัญญา และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ไปทำสัญญาและขอสงวนสิทธิตามหนังสือค้ำประกันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2521 แล้วนั้น ปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยปัญหานี้ให้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,449,757.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 สิงหาคม 2527) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share