คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 ตราออกมาเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ศีลธรรม วัฒนธรรม และประเพณีอันดีของชาติใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการจึงเป็นใบอนุญาตเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาตจะขออนุญาตแทนกันไม่ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้โอนใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการให้โจทก์โดย อ้างว่าเป็นผู้ถือใบอนุญาตแทนโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด เมื่อปี2511 โจทก์ได้เปิดกิจการโรงแรมชื่อ “โรงแรมโคราชโฮเต็ล” และได้ขออนุญาตตั้งสถานบริการอาบอบนวด โคราชบริการ และสถานบริการเต้นรำ เค.อาร์ คลับ ยุค พี เจ แมนชั่น ภายในบริเวณโรงแรมดังกล่าวโดย มีผู้จัดการของโจทก์หรือตัวแทนของผู้เช่ากิจการโรงแรมเป็นผู้มีชื่อในใบอนุญาตติดต่อกันเรื่อยมา ในปี 2517 ผู้เช่ากิจการโรงแรมได้ขอเลิกการเช่า โจทก์จึงได้ให้พลเอกเนตร เขมะโยธินเข้าเป็นผู้มีชื่อถือใบอนุญาตสถานบริการทั้งสองแห่ง แต่พลเอกเนตรได้ให้ใส่ชื่อจำเลยซึ่งเป็นคนสนิทเป็นผู้มีชื่อถือใบอนุญาตแทนต่อมาในปี 2528 พลเอกเนตรถึงแก่อนิจกรรม โจทก์จึงขอให้จำเลยเปลี่ยนชื่อผู้ถือใบอนุญาตมาเป็นกรรมการโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือผู้จัดการโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ถือใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการอาบอบนวดโคราชบริการ และใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเต้นรำเค.อาร์ คลับ ยุค พี เจ แมนชั่น จากจำเลยเป็นชื่อนางสาวโชติรัตน์ เขมะโยธิน ประธานกรรมการโจทก์ หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว เห็นว่า คำขออนุญาตตั้งสถานบริการเป็นสิทธิเฉพาะตัว คำขอท้ายฟ้องไม่อาจบังคับได้พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ขอและได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตั้งแต่ปี 2511 โดย เป็นส่วนหนึ่งของกิจการโรงแรมของโจทก์เพื่อให้บริการ ซึ่งโจทก์ได้มอบให้ผู้จัดการของโจทก์หรือตัวแทนผู้เช่ากิจการโรงแรมของโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเรื่อยมาจนกระทั่งถึงจำเลย จำเลยเป็นผู้ที่โจทก์มอบหมายให้เข้ามาถือใบอนุญาตแทน หากจำเลยเสียชีวิตหรือไม่ยอมต่ออายุใบอนุญาตตั้งสถานบริการ ใบอนุญาตตั้งสถานบริการก็จะไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และทางราชการมีนโยบายที่ไม่อนุญาตให้ตั้งขึ้นใหม่ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 483/2522ข้อ 10 ว่า การโอนกิจการถือว่าเป็นการขออนุญาตใหม่ ซึ่งมีนโยบายไม่อนุญาต เว้นแต่การโอนกิจการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ก็มิใช่เป็นการก้าวล่วงเข้าไปละเมิดอำนาจการใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารแต่จะเป็นการรับรองสิทธิในการได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการของโจทก์ ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติสถานบริการพ.ศ. 2509 มาตรา 4 ซึ่งแก้ไขโดย พระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2525 ได้บังคับห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และในการขออนุญาต เงื่อนไขการอนุญาตและการขอต่ออายุใบอนุญาตก็จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง คุณสมบัติของผู้ขออนุญาตตั้งสถานบริการจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรา 6 ทั้งได้กำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบอนุญาตสำหรับกรุงเทพมหานครหมายถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในจังหวัดอื่นหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น เห็นว่า ตามเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติสถานบริการ ตราออกมาเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ศีลธรรม วัฒนธรรม และประเพณีอันดีของชาติแสดงว่าใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นใบอนุญาตเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาตโดยเฉพาะ จะขออนุญาตแทนกันไม่ได้ และพระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการไว้เป็นการยืนยันให้เห็นว่าใบอนุญาตตั้งสถานบริการเป็นใบอนุญาตที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ระบุไว้จะต้องพิจารณาออกให้เฉพาะตัวผู้ขออนุญาตและผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎหมายนี้เท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนใบอนุญาตให้โจทก์ได้ตามฟ้อง”
พิพากษายืน

Share