คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ ตามป.วิ.พ. มาตรา 307 ต้องเป็นกรณีที่ตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเองมีรายได้ประจำปีจากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อที่ดินของจำเลยที่ถูกโจทก์นำยึดมีแต่พืชไร่ซึ่งไม่ปรากฎว่าเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวอันจะมีรายได้ประจำปีมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ดังนี้ ไม่อาจตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตราดังกล่าวได้.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 6,846,626.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีในต้นเงิน 4,500,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองจะชำระแก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความหากจำเลยทั้งสองผิดนัดให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีแต่จำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์ขอหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดสระบุรีบังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสระบุรีได้ทำการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7709 และ 7710 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแคจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์จำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศสำหรับทรัพย์ที่ศาลจังหวัดสระบุรียึดไว้นั้น เป็นที่ดินที่เกี่ยวพันนำมาใช้ประโยชน์ในการดังกล่าวสามารถนำมาหารายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไว้ก่อน และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 มิได้ประกอบกิจการหารายได้ในการอุตสาหกรรมและผลิตกรรมจากทรัพย์ที่โจทก์นำยึด ที่ดินที่โจทก์นำยึดในคดีนี้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า จำเลยที่ 2 ไม่มีรายได้จากการประกอบอุตสาหกรรมและผลิตกรรมใด ๆ ที่ดินที่โจทก์นำยึดไม่พอชำระหนี้โจทก์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่โต้แย้งขึ้นมาว่า ควรให้โอกาสแก่จำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเพื่อนำรายได้มาชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 307 ซึ่งมีผลเป็นการขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์นำยึดไว้นั้น ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างกัน โดยจำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินจำนวน 6,846,626.80 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 4,500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องคือวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จและจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม2529 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงนำยึดที่ดินมีโฉนดของจำเลยที่ 2 รวมสองแปลงเพื่อบังคับคดี… จึงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์นำยึด เป็นที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดคงโต้เถียงกันเพียงว่า มีพืชไร่หรือไม่เท่านั้น… ในชั้นไต่สวนคำร้องจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดได้ใช้ประโยชน์จากการประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างใด คงเบิกความเพียงว่ามีโรงงานผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่อำเภอปากช่อง มีราคาทรัพย์สินรวมโรงงานและเครื่องจักรเป็นเงิน 17,000,000 บาท ส่วนที่ดินที่ถูกโจทก์นำยึด ใช้เป็นที่ปลูกพืชไร่ ซึ่งแม้จะเป็นความจริงพืชไร่ดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีความเกี่ยวข้องในกระบวนการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมตามคำร้องเช่นใด การที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเองในปัจจุบันมีรายได้ประจำปีจากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษาการนำยึดอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะดังนี้ออกขายทอดตลาดโดยตรงอาจนำความเสียหายมาสู่ฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจสูญเสียทรัพย์สินที่เคยใช้ประกอบอาชีพและมีรายได้ที่ได้รับโดยสม่ำเสมอเป็นประจำ ดังนั้น บทบัญญัติในวิธีการบังคับคดีจึงให้โอกาสแก่คู่ความที่จะเลือกใช้วิธีการบังคับคดีตามมาตรา 307 ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็อาจได้รับชำระหนี้ของตนได้เต็มตามจำนวนจนเป็นที่พอใจ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ทรัพย์สินที่ถูกนำยึดหาได้มีรายได้หรือมีการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมในขณะนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของมาตรา 307 ไม่กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติที่จำเลยที่ 2 อาศัยเป็นหลักกฎหมายและฎีกาขึ้นมา…”
พิพากษายืน.

Share