แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินของจำเลยที่ถูกโจทก์นำยึดไม่มีรายได้ประจำปีอันเกิดจากที่ดินนั้นหรือมีการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอยู่ในขณะที่ถูกยึด จำเลยจึงไม่อาจขอตั้งผู้จัดการทรัพย์สินแทนการสั่งขายทอดตลาดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 307 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 6,846,626.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18 ต่อปี ในต้นเงิน 4,500,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองจะชำระแก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากจำเลยทั้งสองผิดนัดให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดโจทก์ขอหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดสระบุรีบังคับคดีแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสระบุรีได้ทำการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7709และ 7710 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์จำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศคดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 261/2529 ของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน ในคดีดังกล่าวจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการทรัพย์เพื่อหารายได้มาชำระหนี้ คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนคำร้อง สำหรับทรัพย์ที่ศาลจังหวัดสระบุรียึดไว้นั้น เป็นที่ดินที่เกี่ยวพันนำมาใช้ประโยชน์ในการดังกล่าวสามารถนำมาหารายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไว้ก่อน และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 มิได้ประกอบกิจการหารายได้ในการอุตสาหกรรมและผลิตกรรมจากทรัพย์ที่โจทก์นำยึด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่โต้แย้งขึ้นมาว่าควรให้โอกาสแก่จำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเพื่อนำรายได้มาชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 307 ซึ่งมีผลเป็นการขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์นำยึดไว้นั้น ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างกัน โดยจำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินจำนวน 6,846,626.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 4,500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องคือวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2529 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำยึดที่ดินมีโฉนดของจำเลยที่ 2 รวมสองแปลงเพื่อบังคับคดี แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นข้อพิพาทชั้นบังคับคดีคดีนี้ สภาพและตำแหน่งของที่ดินที่ถูกนำยึด จำเลยที่ 2 อ้างตนเองเบิกความเพียงคนเดียวว่าเป็นที่ดินตั้งอยู่ที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ใช้เป็นที่ปลูกพืชไร่ ส่วนโจทก์นำสืบว่าที่ดินที่โจทก์นำยึด เป็นที่ดินว่างเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้าง จำเลยไม่ได้ปลูกพืชใด ๆ ที่จะนำมาใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม ซึ่งสภาพของที่ดินตามภาพถ่ายหมาย จ.3ก็ปรากฏว่าไม่มีการทำประโยชน์ใด ทั้งศาลชั้นต้นเคยขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวมาสองครั้งแล้ว มีผู้ให้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดครั้งสุดท้ายเป็นราคา 1,840,000 บาทเศษ โดยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตีราคาทรัพย์ทั้งสองแปลงเป็นเงินเพียง 700,000 บาท ข้อนำสืบของคู่ความดังกล่าวแล้วจึงรับฟังเป็นที่ยุติว่าที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์นำยึด เป็นที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดคงโต้เถียงกันเพียงว่า มีพืชไร่หรือไม่เท่านั้น ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งอื่น เป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ประโยชน์หารายได้ทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมทำอาหารสัตว์ ที่ดินนำยึดในคดีนี้เป็นที่ดินเกี่ยวพันกันกับทรัพย์สินที่ใช้ทำอาหารสัตว์ แต่ในชั้นไต่สวนคำร้อง จำเลยที่ 2ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดได้ใช้ประโยชน์จากการประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างใด คงเบิกความเพียงว่ามีโรงงานผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่อำเภอปากช่อง มีราคาทรัพย์สินรวมโรงงานและเครื่องจักรเป็นเงิน 17,000,000 บาท ส่วนที่ดินที่ถูกโจทก์นำยึด ใช้เป็นที่ปลูกพืชไร่ ซึ่งแม้จะเป็นความจริงพืชไร่ดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีความเกี่ยวข้องในกระบวนการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมตามคำร้องเช่นใด การที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเอง ในปัจจุบันมีรายได้ประจำปีจากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การนำยึดอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะดังนี้ออกขายทอดตลาดโดยตรง อาจนำความเสียหายมาสู่ฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจสูญเสียทรัพย์สินที่เคยใช้ประกอบอาชีพและมีรายได้ที่ได้รับโดยสม่ำเสมอเป็นประจำ ดังนั้น บทบัญญัติในวิธีการบังคับคดีจึงให้โอกาสแก่คู่ความที่จะเลือกใช้วิธีการบังคับคดีตามมาตรา 307ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็อาจได้รับชำระหนี้ของตนได้เต็มตามจำนวนจนเป็นที่พอใจ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ทรัพย์สินที่ถูกนำยึดหาได้มีรายได้หรือมีการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมในขณะนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของมาตรา 307 ไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติที่จำเลยที่ 2 อาศัยเป็นหลักกฎหมายและฎีกาขึ้นมาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน